นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ ฯเปิดเผยว่าสถาบัน ฯร่วมกับจังหวัดน่าน และประชาคมน่านร่วมกันจัดมหกรรมเรียนรู้ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งภายในงานอนุรักษ์มรดกไทย มรดกน่าน ซึ่งจะจัดให้เป็นเวทีเรียนรู้การพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริโดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆทั่วทุกภาคของประเทศ
“โครงการต้นแบบการพัฒนาแบบบูรณาการของปิดทองหลังพระ ฯมีผู้มาเยี่ยมชมกันมาก จนเกิดแนวคิดที่จะนำไปขยายงานในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้นการจัดมหกรรมเรียนรู้ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดให้ผู้ที่ร่วมโครงการปิดทองหลังพระ ฯอยู่แล้ว กับผู้ที่จะนำไปขยายผลได้มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เป็นการเพิ่มความเข้าใจและเป็นกำลังใจที่จะไปร่วมกันขยายผลแนวพระราชดำริต่อ ๆไป”
งานดังกล่าวนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2554 ซึ่งนอกจากจะมีผู้แทนชุมชนชาวน่าน ราชการส่วนท้องถิ่นและครูภูมิปัญญาน่านแล้ว ยังจะมีผู้แทนชุมชนจากจังหวัดอื่น ๆเช่น พิษณุโลก เชียงราย สิงห์บุรี ตราด เพชรบุรี ยะลา ตลอดจนผู้แทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“การมาเรียนรู้ซึ่งกันและกันในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้ที่มีแผนงานจะนำแนวพระราชดำริไปใช้อยู่แล้วทั้งสิ้น จึงคาดหวังได้ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี และช่วยให้การพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆเป็นไปโดยสำเร็จมากยิ่งขึ้น เมื่อได้มาศึกษาการทำงานของที่อื่นไปเป็นบทเรียน”
องค์ประกอบของงานมหกรรมเรียนรู้ครั้งนี้ประกอบด้วย นิทรรศการเสมือนจริงที่เป็นการจำลองพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ ฯมาให้เห็นความเกี่ยวโยงของงานการจัดการน้ำ เกษตร และปศุสัตว์ ในพื้นที่ต้นแบบอำเภอสองแคว ท่าวังผา และเฉลิมพระเกียรติ
นอกจากนี้ได้แก่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะแบ่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมิติสำคัญ ประกอบด้วย น้ำ ป่า เกษตร และดิน เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนกับผู้ปฏิบัติงานจริง และครูภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในและนอกพื้นที่ ต่อยอดในพื้นที่เดิมและพื้นที่ขยายผลปิดทองหลังพระฯ อันจะนำไปสู่ให้ชุมชนนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองในจังหวัดน่าน และจังหวัดขยายผล และจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและชุมชนในระดับอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน
“วันที่ 3 เมษายน เป็นหัวใจของงานนี้ เพราะหลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว เราจะได้รับฟังว่าชาวน่านคิดอย่างไรในการนำแนวพระราชดำรอไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และผู้แทนชุมชนจากจังหวัดอื่น ๆคิดอย่างไรในการนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้กับโครงการในบ้านเกิดของตนเอง”
ในวันเดียวกันนี้ยังจะมีการประชุม “วาระน่าน” ซึ่งเป็นช่วงเฉพาะของชาวน่านที่จะร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาตนเอง เป็นต้นแบบการกำหนดอนาคตของท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นอย่างแท้จริงต่อไป
จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2553 โดยมี 3 อำเภอ เป็นพื้นที่ต้นแบบ คือ อำเภอท่าวังผา (พื้นที่ดำเนินโครงการ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านน้ำป้าก บ้านห้วยธนู และบ้านห้วยม่วง) อำเภอสองแคว (มีพื้นที่ดำเนินโครงการ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านยอด บ้านน้ำกอก และบ้านผาหลัก) และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ (พื้นที่ดำเนินโครงการ 15 หมู่บ้าน อาทิ บ้านเปียงซ้อ บ้านด่าน บ้านน้ำช้าง บ้านน้ำว้า เป็นต้น )
ในโอกาสที่ครบรอบ 1 ปี ของการดำเนินงานโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอดังกล่าว ประสบผลสำเร็จทำให้ชาวบ้านสามารถลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และชำระหนี้สินได้แล้ว ทั้งยังมีการร่วมบูรณาการกับจังหวัดน่านเพื่อขยายผลโครงการไปอีก 9 อำเภอ
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ: ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและภาคีสัมพันธ์
โทร 02 611-5012 ,611-5045