สภาที่ปรึกษาฯ แถลงข่าวความเห็นและข้อเสนอแนะ การให้ความช่วยเหลือกรณีวิกฤตภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น

พฤหัส ๓๑ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๐๘
เมื่อวันพุธที่ 30 มี.ค. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และรศ.ดร.ใยอนงค์ ทิมสุวรรณ ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน แถลงข่าวความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศญี่ปุ่น กรณี : วิกฤตภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ”

ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 โดยก่อนหน้านี้

สภาที่ปรึกษาฯ ได้เข้าพบอุปทูตญี่ปุ่นนายทาเคชิ โอกาดะ เพื่อปรึกษาหารือถึงลักษณะและรูปแบบของความช่วยเหลือที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการพร้อมมอบเงินช่วยเหลือความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ สรุปได้ดังนี้

๑. รัฐบาลไทยควรนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพำนักชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจแก่ชาวญี่ปุ่นผู้ซึ่งประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

๑) กลุ่มเป้าหมายชาวญี่ปุ่นที่จะมาพำนักในไทย เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และครอบครัวคนไทยที่สมรสกับชาวญี่ปุ่น เป็นต้น โดยให้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและจัดส่งผู้ประสบภัยดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระในการดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่น อันจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการฟื้นฟูประเทศได้สะดวกขึ้น

๒) แหล่งพำนักอาศัยของชาวญี่ปุ่นในไทยควรพิจารณาจากสถานที่พักของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่เหมาะสมจะใช้เป็นที่พำนักระยะยาว (Long stay หรือ Home stay) โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าที่พักในอัตราที่มีส่วนลดพิเศษสุด หรืออาจเลือกใช้สถานที่พักขนาดใหญ่ของรัฐที่มีสภาพดีและมีศักยภาพในการรองรับ เช่น หมู่บ้านนักกีฬา เป็นต้น หรืออาจใช้ความร่วมมือจากครอบครัวคนไทยในลักษณะโครงการครอบครัวไทยใจอาสารับผู้ประสบภัยญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศที่ดี ทั้งนี้ ไม่ควรก่อสร้างที่พำนักใหม่ และควรมีการตรวจสอบแหล่งที่พำนักเตรียมความพร้อมเพื่อการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ

๓) ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ ควรร่วมพิจารณากับรัฐบาลหรือหน่วยงานญี่ปุ่นเพื่อกำหนดกรอบที่เหมาะสม โดยอาจพิจารณาจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ชาวญี่ปุ่น เช่น ภูมิอากาศที่หนาวเย็น มลภาวะ แผนการควบคุมการรั่วไหลของกัมมันตรังสี แผนในการก่อสร้างบูรณะเมือง การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ที่พำนัก อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ หากกรอบระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลายาว รัฐบาลไทยอาจช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงต้น เช่น ในระยะ ๓-๖ เดือนแรก ส่วนระยะเวลาที่เหลือ รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเอง (ในราคาลดพิเศษสุด) หรืออาจอยู่ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างสองประเทศ หรือ ประเทศอื่นๆ ร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายก็ได้

๔) การเคลื่อนย้ายประชาชนชาวญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย ควรเตรียมมาตรการในการออกวีซ่าที่เหมาะสม ทั้งระยะเวลา (เช่น ๑ ปี) กติกา ที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งอาจพิจารณาให้กองทัพอากาศและกองทัพเรือไทยช่วยสนับสนุนการเคลื่อนย้าย

๕) การจัดตั้งศูนย์ในการบริหารจัดการความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือฯ อย่างเป็นระบบ รัฐควรเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นความต้องการจากภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศไทยหรือจากต่างประเทศ เช่น ด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูสภาพร่างกาย การผ่อนคลายสภาพจิตใจ การสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการยังชีพ โดยหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของไทยนี้สามารถทำได้ง่ายกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า หากชาวญี่ปุ่นมาพำนักในไทย

๖) รูปแบบของการให้ความช่วยเหลือต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ ค่านิยม และวิถีแนวคิดของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการรับความช่วยเหลือ ซึ่งต้องแสดงออกถึงการให้เกียรติแก่ผู้ประสบภัยด้วย

๒. การจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นในสาขาเฉพาะทางที่ประเทศไทยไม่มีความพร้อมซึ่งเป็นความต้องการทั้งในส่วนภาครัฐหรือภาคเอกชนไทย ให้เดินทางมาพำนักและทำงานในประเทศไทยชั่วคราว โดยอาจเป็นการช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญที่สังกัดในบริษัทหรือหน่วยงานที่เกิดผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ไทย

๓. ความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินงานวิจัยและการศึกษา ระหว่างสถาบันหรือหน่วยงานทางการศึกษาของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งมีการวางแผนงานโครงการอยู่แล้ว ให้สามารถเริ่มดำเนินงานได้โดยทันทีหรือโดยเร็วก่อนกำหนดการเดิมที่วางไว้

๔. ออกมาตรการเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมาประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน IT รวมทั้งการวางแผนการบริหารจัดการแรงงานไทยเพื่อรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อนักลงทุนไทยด้วย

สำหรับปัญหาอันเกิดจากภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ณ ขณะนี้ ภาคใต้ประสบปัญหาอย่างรุนแรงสภาที่ปรึกษาฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องภาคใต้ ซึ่งกำลังพิจารณาแนวทางการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่ต่อไป

นางภรณี ลีนุตพงษ์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับปัญหากรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ ดังนี้

๑. การรณรงค์ตลอดจนป้องกันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มได้รวมทั้งการปลูกฝังการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ

๒. ควรอนุรักษ์ให้ป่าพรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ควรมีทำนบดินเพื่อให้น้ำอยู่ในพื้นที่ป่าพรุ ไม่ปล่อยให้ประชาชนเข้ามาทำการเกษตร เพราะจะมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทำให้ป่าพรุควนเคร็ง ขาดความชุ่มน้ำ ซึ่งเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ เมื่อน้ำท่วมขังแล้วจะไหลลงทะเลตามธรรมชาติ

๓. ควรกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสม และไม่เหมาะสมในการปลูกพืช เช่น ไม่ให้ปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มกำหนด Zoning ในการปลูกพืช เพื่อลดการบุกรุกป่าเข้าไปในพื้นที่ชุมน้ำ

๔. ควรมีการจัดทำผังเมืองและระบบระบายน้ำของชุมชน มีการจัดการลำน้ำสาขาที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เป็นที่ระบายน้ำ รวมทั้งออกกฎหมายควบคุมอาคารและมีการจัดการที่เข้มงวด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้