นายนที วรรธนะโกวินท์ อุปนายกและที่ปรึกษาสมาคมรถเช่าไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันสมาคมรถเช่าไทยมีสมาชิกอยู่ประมาณ 40 ราย ซึ่งนับว่ามีอัตราส่วนการให้บริการด้านธุรกิจรถเช่า ที่เกี่ยวกับรถยนต์และรถตู้มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วประเทศรวมๆ ประมาณ 30 % ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบจาก 1-2 ปีก่อน โดยช่วงหลังค่อนข้างมีข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับรถเช่ามากขึ้น ดังนั้น ในฐานะของสมาคมรถเช่าไทย จึงได้มีการพูดคุยกันในคณะกรรมการสมาคม และเตรียมหามาตรการต่างๆ ในการป้องกัน ดังนี้ คือ แลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้าที่มีแนวโน้มกระทำทุจริต ฉ้อโกง ในระหว่างสมาชิก, ร่วมมือกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการสกัดจับผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วขึ้นมาก, จัดสัมนาในระหว่างสมาชิกเพื่อแนะนำ ป้องกัน การฉ้อโกง ของแก๊งมิจฉาชีพ และจัดทีมทนายความ ในการติดตาม ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง”
สำหรับตลาดรถเช่าของประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา สมาคมรถเช่าไทย ได้มีการประชุมร่วมกันกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งจากที่รวบรวมข้อมูลมา ธุรกิจรถเช่าโดยรวมทั้งรถเช่าประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลและรถตู้ น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่มีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนการขยายตัวของมูลค่าสินทรัพย์รวมในตลาดรถเช่า ประเภทรถตู้และรถยนต์ น่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 จากปีก่อนที่คาดว่าจะมีรถเช่าที่ให้บริการทั่วประเทศประมาณ 150,000 คัน ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทางธุรกิจโดยรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาทางสมาคมรถเช่าไทย พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมให้กับผู้ประกอบการรถเช่า ทั้งที่เป็นสมาชิก และยังไม่ได้เป็นสมาชิก มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในแง่การจัดกิจกรรมด้านการอบรมให้ความรู้ และกิจกรรมที่จะมีส่วนร่วมสร้างกลุ่มพลังทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการธุรกิจรถเช่าที่เป็นสมาชิก อาทิ การสัมมนาเรื่อง การตรวจเครดิต บูโร หรือ มีแบล็กลิส (Black List) ในระหว่างสมาชิกด้วยกัน เป็นต้น
โดยแนวโน้มการเติบโตธุรกิจรถเช่าในประเทศไทยในปีนี้ มีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวจะลดลงเพราะปัญหาวิกฤติทางภัยธรรมชาติ ในประเทศต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาประเทศไทย และปัญหาการชุมนุมต่างๆ ในกรุงเทพ และต่างจังหวัด รวมทั้งการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ รวมทั้งทางภาครัฐเอง ก็มีแนวโน้มสูงมากขึ้นในการเปลี่ยน นโยบายจากการซื้อรถเอง แต่หันมาใช้การเช่าแทนเพราะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการใช้ยานพาหนะ ลด-
ความเสี่ยงในการเป็นเจ้าของรถเอง ทั้งด้านการสูญหายหรือซ่อมบำรุง ดังนั้นถ้าหากจะหักส่วนที่หายไปจากนักท่องเที่ยวแต่มาเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่หันมาเช่าใช้แทนมากกว่าการซื้อใช้ จึงทำให้ยอดการเติบโตของธุรกิจรถยนต์เช่ามีจำนวนมากขึ้นประมาณ 5-10%
สำหรับธุรกิจรถยนต์เช่าในประเทศไทยมีมายาวนานหลายสิบปี มีผู้ประกอบการจำนวนหลายร้อยราย และเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการนับเป็นแสนๆราย แต่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะมากำกับดูแลให้ได้ระดับมาตราฐานสากลเท่าเทียมต่างประเทศอาทิเช่นการประกันภัยชั้นหนึ่งกับรถยนต์เช่าทุกๆคัน หรือการมีสัญญาเช่ากลางที่มีมาตรฐานและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เป็นต้น ดังนั้นทางสมาคมรถเช่าไทยจึงมีแนวความคิดในการยกร่างพ.ร.บ.สภาธุรกิจรถยนต์เช่า ซึ่งเป็นแนวความคิดว่าจะใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำกับดูแลธุรกิจรถยนต์เช่า