สถาบันอาหารชี้ตลาดอาหารนาโน(Nanofood)อนาคตไกล มูลค่าตลาดทั่วโลกกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

อังคาร ๐๕ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๕:๓๑
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยอาหารนาโน(Nanofood) เป็นตลาดอาหารแห่งอนาคต มีแนวโน้มเติบโตสูง มูลค่าตลาดทั่วโลกสูงกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารนาโนออกสู่ตลาดทั่วโลกแค่ 4 ประเภท คือ 1)ชานาโน (Nanotea) 2)น้ำมันปรุงอาหารที่มีหยดน้ำมันขนาดนาโน(Nanosized droplets) 3)ขวดเบียร์พลาสติกที่เคลือบภายในด้วยวัสดุไนลอนนาโนเทค และ4) ช็อคโกแล็ตเชค (Chocolate Shake) ที่ใช้เทคนิค Nanoclusters เหตุเพราะการวิจัยและพัฒนายังจำกัดในวงแคบ ทั้งมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยกลัวซ้ำรอยกรณีอาหารจีเอ็มโอที่ผู้บริโภคขาดความรู้ความเข้าใจ ด้านอียูเตรียมวางมาตรฐานความปลอดภัยเข้มในการนำเข้าสินค้าอาหารนาโน

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร องค์กรเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า อาหารนาโนกลายเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในด้านประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เก็บรักษาได้ยาวนานมากขึ้น และให้คุณค่าทางโภชนาการได้มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นข้อกังวลในความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังเห็นได้จากปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหวในการผลักดันให้เกิดระบบควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารนาโนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)

จากการศึกษาของ Helmut Kaiser Consultancy พบว่าอาหารนาโนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2547 ที่มีมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นในปี 2549 เป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2553 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 20.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าอาหารนาโนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญและอาจเป็นอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ในไม่ช้า โดยมีบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นแนวหน้าของโลกอย่างเนสเล่, คราฟ, ไฮนซ์ และ ยูนิลีเวอร์ ต่างให้ความสำคัญโดยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งหวังที่จะครองส่วนแบ่งตลาดอาหารนาโนในอนาคต

ปัจจุบันมีงานวิจัยและพัฒนาอาหารนาโนออกสู่สาธารณะให้เห็นอยู่บ้าง โดยกลุ่มบรรจุภัณฑ์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสู่เชิงพาณิชย์สูงกว่าอาหารนาโนประเภทอื่น ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ฉลาก (Smart packaging) ใช้วัสดุที่ทำจากนาโนเทคโนโลยีเพื่อช่วยยืดอายุอาหาร และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสามารถแสดงได้ว่าอาหารมีการปนเปื้อนหรือไม่ และยังสามารถตรวจหาเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารและเตือนให้ผู้บริโภคทราบได้ หรือสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ ซ่อมแซมตัวเองได้ถ้าเกิดการฉีกขาด

“แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่า การนำอาหารนาโนออกสู่ตลาดนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดและเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยและระเบียบข้อบังคับที่ยังไม่ชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้พัฒนานาโนเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีในท้องตลาดกว่า 800 ประเภท แต่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มนาโน

เพียง 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ชานาโน (Nanotea) ที่กล่าวถึงสรรพคุณในการช่วยเพิ่มการทำงานของซีลีเนียม (Selenium) 10 เท่า 2.น้ำมันปรุงอาหารที่มีหยดน้ำมันขนาดนาโน (Nanosized droplets) ช่วยยับยั้ง คลอเลสเตอรอลไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด 3.ขวดเบียร์พลาสติกที่เคลือบภายในด้วยวัสดุไนลอนนาโนเทค ช่วยทำให้เบียร์มีความสดมากกว่าเดิม และ4.ช็อคโกแล็ตเชค (Chocolate Shake) ที่ใช้เทคนิค Nanoclusters ที่ช่วยให้มีรสชาติดีโดยปราศจากการเติมน้ำตาล” นายอมร กล่าว

สำหรับสหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางด้านความปลอดภัยและเตรียมพร้อมในการให้ความรู้แก่สาธารณชนไปแล้วบางส่วน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ EU เริ่มมีการพิจารณากฎระเบียบและศึกษามาตรการความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมในส่วนของอาหารนาโนมากขึ้น รวมทั้งเริ่มวางระบบเพื่อควบคุมความเสี่ยง จะเห็นได้จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา หน่วยงาน JRC (The European Commission's Joint Research Centre) ได้ออกมาประกาศเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลวัสดุนาโนที่มีการใช้กันมากในสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product) เพื่อจะนำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการประเมินความปลอดภัย นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค (DG-SANCO) ก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงวัสดุนาโน (Reference Laboratory) เพื่อให้เป็นผู้ทดลองศึกษา และกำหนดวิธีมาตรฐานในการตรวจหาวัสดุนาโนต้องห้ามปนเปื้อนในสินค้าอาหารนำเข้า รวมทั้งยังอยู่ระหว่างเตรียมยกร่างกฎระเบียบควบคุมวัสดุนาโนในสินค้าอาหาร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554 นี้

การเตรียมการของ EU ดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตอันใกล้อาจมีการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารเกี่ยวกับวัสดุนาโนปนเปื้อนในสินค้านำเข้า และอาจเรียกร้องให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าต้องตรวจสอบการปนเปื้อนวัสดุนาโนในสินค้าอาหารก่อนส่งเข้าไปยังประเทศในกลุ่ม EU ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมความปลอดภัยของผู้บริโภคใน EU เอง แต่ก็อาจเป็นประเด็นกีดกันทางการค้านำเข้า และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในอนาคตก็เป็นได้

นายอมร กล่าวต่อว่า “สำหรับประเทศไทย แม้ในปัจจุบันการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีอยู่จำกัด ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยของหน่วยงานภาครัฐและในสถาบันการศึกษา เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารโดยใช้กระบวนการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้สารอาหารและวิตามินกลายเป็นผงนาโนที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ทันที แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต การเติบโตของตลาดอาหารนาโน จะกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตไม่อาจหยุดนิ่งที่จะทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อครองส่วนแบ่งทางการตลาดของอาหารนาโนที่มีศักยภาพในการเติบโตนี้ได้

ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และความเข้าใจในเรื่องนาโนเทคโนโลยี ทั้งจากการรวบรวมความรู้และงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล โดยการฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้วย และอาจทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยจากภาครัฐ หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งความรู้และแหล่งงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี

สำหรับข้อกังวลในด้านความปลอดภัยจากอาหารนาโนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนต่อการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารเฉพาะสำหรับอาหารนาโน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องนำมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการเติบโตของตลาดอาหารนาโน รวมถึงกรณีที่สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะตรวจสอบอาหารนาโนในอนาคต หากประเทศไทยมีแนวทางและมาตรฐานการประเมินความเสี่ยงในด้านนี้ที่ชัดเจนอย่างเพียงพอก็จะไม่เสียเปรียบประเทศคู่ค้า และผู้บริโภคในประเทศก็ยังมีความปลอดภัยต่อการบริโภคอีกด้วย”

อนึ่ง นาโนเทคโนโลยีได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์แห่งทศวรรษ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ได้หลากหลายสาขา และมีโอกาสทำให้เกิดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์สูง ในสาขาอาหารก็มีการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งทางเกษตรกรรม การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยเรียกชื่ออาหารที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีว่า อาหารนาโน (Nanofood) และให้คำจำกัดความว่า อาหารที่ใช้เทคนิคนาโนเทคโนโลยี หรือ เครื่องมือนาโนเทคโนโลยีในการเพาะปลูก ผลิต แปรรูป หรือ บรรจุ แต่ไม่รวมถึงการดัดแปลงอาหาร หรือ การใช้เครื่องจักรกลนาโนในการผลิต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version