เวทีนี้มีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้ความสนใจ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 250 ผลงาน การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ออกแบบบ้าน และอาคารสูงไม่เกิน 8 ชั้น เฉพาะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้าไป3 รางวัล โดยได้รับรางวัลที่ 3 จำนวน 2 ผลงาน และรางวัลชมเชย อีก 1 ผลงาน ซึ่งในการประกวดครั้งนี้ไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลที่ 1 และรางวัลที่ 2
นายสุรัตน์ บัวชื่น นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ได้รับรางวัลที่ 3 จากผลงานชื่อ “Non Stop Condominium” อธิบาย แนวคิดในการออกแบบผลงานชิ้นนี้ว่า มองถึงสภาพความเป็นจริงทางด้านการประหยัดพลังงานโดยเน้นการระบายอากาศตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด นำเอาเรื่องการใช้ประโยชน์จากกระแสลมธรรมชาติมาใช้เป็นแนวคิดหลักผนวกเข้ากับเรื่องของการเจาะพื้นที่รับลม เพิ่มการใช้น้ำและต้นไม้เพื่อนำมาใช้ในการลดความร้อนที่เกิดจากกระบวนการดึงเอาความร้อนแฝงไปใช้ในการระเหยของหยดน้ำ จนเกิดสภาวะน่าสบายแก่ผู้ใช้อาคาร และบริเวณโดยรอบภายในอาคาร โดยนำหลักการของการปรับเย็นด้วยวิธีธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย
และอีกหนึ่งผลงานที่ชื่อว่า “WEATHER GREEN CONDOMINIUM” โดย นายเจนวิทย์ ตาสหรี นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร คว้ารางวัลที่ 3 เช่นกัน เจนวิทย์ บอกว่า ผลงานชิ้นนี้เน้นไปที่การใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วยเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บรรยากาศน่าอยู่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ออกแบบวางผังอาคารให้เรียบง่ายสอดคล้องกับทิศทางแดดและลมในแนวเหนือใต้ เพื่อลดการรับแสงแดด และความร้อนโดยตรง และทำให้อากาศหมุนเวียนได้สะดวก พร้อมกับออกแบบรูปทรงของแผงกันแดดให้รับกับทิศทางลม ช่วยให้ลมพัดเข้าสู่ตัวอาคารมากยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงแดดไม่ให้เข้าสู่ภายในอาคารให้ได้มากที่สุดโดยวิธีต่างๆ เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ
ส่วนรางวัลชมเชย เป็นผลงานของนายภานุวัฒน์ แสงสว่าง นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ชื่อว่า “Eco Condominium” เป็นการออกแบบอาคารเน้นการใช้พลังงานทดแทน และพลังงานธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า สร้างพื้นที่สีเขียวในอาคารให้ได้มากที่สุด ทั้งทางตั้งและทางราบ โดยปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าเพื่อเพิ่มความเย็น ช่วยการดูดซับสารพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบตัวอาคารให้ยื่นออกมาบังแดดให้กับห้องที่อยู่ด้านล่าง เป็นการเปิดตัวเองให้ออกไปรับลมธรรมชาติ โดยมีส่วนของแผงกันแดดเป็นตัวบังแดดแต่ไม่ปิดกั้นลม การเจาะตัวอาคารให้ลมสามารถเดินทางผ่านได้ตัวอาคารจึงไม่อมความร้อน ตามช่องเจาะ อาคารปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าเพื่อเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติในการให้ความเย็นแก่ตัวอาคาร
อาจารย์เฉลิมชัย เงารังษี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มุ่งเน้นยกระดับมาตรฐานนิสิต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ ทางคณะฯ จึงได้วางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่นิสิต ด้วยการสนับสนุนโครงการเสริมทักษะความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมและผลักดันให้นิสิตได้เพิ่มทักษะทางวิชาชีพ โดยการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อเป็นการประมวลความรู้ที่ได้เรียนมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รังสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่นิสิตจะได้ลองฝึกประสบการณ์ของตนเอง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทัศน์ เยี่ยมวัฒนา หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นเป็นสถาปนิกที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต แม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศแต่การได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับอาจารย์และนิสิต ทำให้ได้รับรู้ความก้าวหน้าในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม การได้เห็นผลงานและพัฒนาการของนิสิตจากสถาบันอื่นๆ ทำให้นิสิตมีความกระตือรือร้นและมีความตั้งใจในการเรียน การทำงานมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลงานได้รับรางวัลและมีการยอมรับทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น รางวัลครั้งนี้ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นใจในศักยภาพของตนเองให้กับนิสิตได้เป็นอย่างดีในอนาคต