ภาพยนตร์สารคดีโดย ร็อบ เลมกิ้น และ เต็ต สัมบัท "ศัตรูประชาชน"

ศุกร์ ๐๘ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๓:๕๐
ศัตรูประชาชน

อังกฤษ/กัมพูชา ? ปี 2553 ? 95 นาที

16:9 ? Stereo ? ดิจิตัล

ภาษาเขมรและอังกฤษ มีคำบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ

เข้าฉายในประเทศไทย วันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ที่โรงภาพยนตร์ SF World เซ็นทรัลเวิลด์ เรต 18+

อำนวยการสร้างโดย โอลด์สตรีทฟิล์ม ประเทศอังกฤษ

จัดจำหน่ายในประเทศไทยโดย เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น

กำกับ / อำนวยการสร้าง / เขียนบท: Rob Lemkin, Thet Sambath

ตัดต่อ: Stephan Ronowicz

ดนตรีประกอบ: Daniel Pemberton

ติดต่อ - บริษัท เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น จำกัด - ผู้ประสานงานโครงการ — คุณไพลิน

ซอยพหลโยธิน 33, ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร: 02 939 4343 แฟ็กซ์: 02 939 5573 E-mail: [email protected] www.extravirginco.com/enemiesofthepeople

เรื่องย่อ

ในปี 1974 พ่อของเต็ต สัมบัทกลายเป็นหนึ่งในผู้คนราว 2 ล้านคนที่ถูกเขมรแดงสังหาร เพียงเพราะไม่ยอมส่งมอบควายให้ส่วนกลาง ในขณะที่แม่ของเขาถูกบังคับให้แต่งงานกับนายทหารของกองทัพเขมรแดงและตายจากการคลอดลูกในปี 1976 ส่วนพี่ชายของเขาหายสาบสูญไปในปี 1977 สำหรับตัวของเขาได้หนีออกจากกัมพูชาภายหลังการล่มสลายของระบอบเขมรแดงในปี 1979 ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 10 ขวบ

เวลาผ่านไปถึงปี 1998 เต็ตกลายเป็นผู้สื่อข่าว เขาได้มีโอกาสรู้จักกับลูกของนายทหารอาวุโสของกองทัพเขมรแดง จนเมื่อสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจ เขาจึงได้รับโอกาสในการเดินทางไปพบกับนายนวนเจีย 'พี่ชายหมายเลข 2’ ผู้นำของเขมรแดงที่อาวุโสที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่

ประวัติผู้กำกับ

ร็อบ เลมกิ้น (Rob Lemkin) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้กำกับของ Old Street Films เขาเคยเป็นโปรดิวเซอร์และกำกับสารคดีกว่า 50 เรื่อง ให้กับ บีบีซี, Channel 4, ITV, Sky, The History Channel และ Arts & Entertainment ผลงานของเขากวาดรางวัลมาแล้วทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ รวมถึงฉายในสถานีโทรทัศน์ที่ฉายรายการสารคดี อย่าง C4, BBC และ ITV งานของเลมกิ้นมักพูดถึงประวัติศาสตร์และการเมืองในภูมิภาคเอเชีย เช่นใน “The Real Dr Evil” (2003) “Who Really Killed Aung San?” (1997) “Malaya: The Undeclared War” (1998) “China: Handle with Care” (2001) และ “Bearers of the Sword” (2002) ทุกวันนี้เลมกิ้นพำนักในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดกับภรรยาและลูกๆ อีกสี่คน

เต็ต สัมบัท (Thet Sambath) เป็นนักข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา เขาเป็นที่รู้จักในฐานะของนักข่าวแนวสืบสวนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของกัมพูชา งานข่าวของเขาถูกขายไปยังสำนักข่าวทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้เขายังเคยเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูงในค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นล่ามตำรวจให้องค์การบริหารชั่วคราวของสหประชาชาติในกัมพูชา และเจ้าหน้าที่สอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มลิคาโดซึ่งเป็นองค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ตั้งแต่ปี 1994 เขาเป็นโปรดิวเซอร์ ล่าม และตากล้องให้กับสถานีโทรทัศน์ อย่าง BBC WGBH Frontline NHK และ NBC ในปี 2002 เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยทุนเจฟเฟอร์สัน ปัจจุบัน เต็ตอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญกับภรรยาและลูกอีกสองคน

สารจากผู้กำกับ

Thet Sambath

พ่อของผมเป็นชนชั้นกรรมาชีพคนหนึ่ง เขาถูกเขมรแดงฆ่าในปีค.ศ. 1974 เพราะปฎิเสธไม่ยอมยกควายให้ แม่ของผมถูกบังคับให้แต่งงานกับนายทหารเขมรแดง และเสียชีวิตหลังคลอดลูกในปี 1976 ขณะที่พี่ชายของผมหายสาบสูญไปเมื่อปี 1977 โดยผมมาทราบตอนหลังว่าเป็นช่วงการกวาดล้างใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านของเรา

เมื่อตอนที่เขมรแดงล่มสลายในปี 1979 ผมซึ่งตอนนั้นอายุ 10 ขวบ ได้หลบหนีไปอยู่ในค่ายผู้อพยพติดกับชายแดนไทย ผมเรียนภาษาอังกฤษจากมิชชั่นนารี่ชาวอเมริกันแล้วก็ค่อยๆ เริ่มทำงานเป็นผู้ประสานงานให้กับองค์กรสื่อต่างๆ ในพนมเปญในช่วงปี 1990

ตลอดช่วงเวลานั้นผมไม่เคยเข้าใจจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคเขมรแดง ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ซึ่งแทบทั้งหมดเขียนโดยชาวต่างชาติ แต่มันก็ยังดูไม่เป็นเหตุผลสำหรับผม ว่าทำไมถึงมีคนถูกฆ่ามากมายถึงขนาดนี้ มันคงไม่ใช่แค่ว่าเขมรแดงเป็นคนไม่ดี

ในปี 1998 เนื่องจากผมทำงานเป็นนักข่าว ผมจึงได้มีโอกาสรู้จักกับหลายๆ คนที่เป็นลูกของอดีตนายทหารเขมรแดงระดับสูง แม้ภรรยาของผมจะไม่พอใจค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 4 ปีหลังจากนั้น ผมก็ได้ใช้เวลาทุกสุดสัปดาห์ไปกับการไปเยี่ยมบ้านของนวนเจีย หรือ พี่ชายหมายเลขสอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเขมรแดงอาวุโสที่สุดที่ยังชีวิตอยู่

แต่เขาเองไม่เคยพูดอะไรมากไปกว่าเรื่องเดิมๆ ที่เขาบอกกับนักข่าวต่างชาติมาตลอด เช่น “ฉันเป็นแค่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง” “ฉันไม่รู้อะไรเลย” “ฉันไม่ได้ฆ่าใคร”

จนวันหนึ่งเขาบอกผมว่า “สัมบัท ฉันเชื่อใจเธอ เธอเป็นคนที่ฉันอยากจะเล่าเรื่องของฉันให้ฟัง ถามฉันมาว่าเธออยากรู้อะไรบ้าง” และในระหว่าง 5 ปีต่อจากนั้นมาเขาก็เล่าความจริงให้ผมฟังตามสิ่งที่เขาประสบมา รวมถึงรายละเอียดเรื่องการสั่งฆ่าด้วย

ตลอดช่วงเวลานั้นผมเองก็ได้ใช้ความพยายามอย่างสาหัสในการสร้างเครือข่ายกับเหล่านักฆ่าเขมรแดงเพื่อจะหาคนที่ยอมคุยกับผมเรื่องนี้ ในกัมพูชามีคนเหล่านี้อยู่หลายพันคนแต่ไม่เคยมีใครยอมรับสารภาพ การหาตัวคนเหล่านี้มาได้นั้นเหมือนต้องงมเข็มในมหาสมุทร

กลุ่มคนสุดท้ายที่ผมเจอคือคนที่เป็นผู้วางแผน เป็นพวกที่พยายามจะล้มพลพตกับนวนเจีย ถ้าขาดคนเหล่านี้ไปเราจะไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปของทุ่งสังหารได้ แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เหลือรอดมาได้เหล่านั้นต่างไม่มีใครที่ยอมพูดเรื่องนี้เลย

แหล่งข่าวของผมล้วนแต่เป็นคนชนบท เพราะสมาชิกเขมรแดงประกอบด้วยคนชนบททั้งหมด พวกเขาจะไม่ยอมพูดกับคนเมืองเลยด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่คนต่างชาติเลย ตัวผมเองก็เป็นคนชนบท ผมคิดว่านั่นเป็นสาเหตุที่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาเหล่านั้นยอมพูดกับผม เพราะผมเองก็เหมือนกับเขา

ในปี 2005 ผมเริ่มวางแผนจะเขียนเรื่องนี้เป็นหนังสือ แต่ผมก็กังวลว่าจะไม่มีใครเชื่อสิ่งที่ผมเล่า ผมเลยเริ่มอัดเสียงบทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ผมทำ แต่ผมก็ยังกังวลอยู่ว่าคนอาจจะยังไม่เชื่ออีก ดังนั้น ในปี 2006 ผมเริ่มถ่ายบทสัมภาษณ์และการพูดคุยของผมเป็นวิดีโอเทปไว้ด้วย

ในปีเดียวกันนั้น ผมได้พบกับร๊อบ และเราตัดสินใจทำเรื่องนี้ออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับผลงานที่ผมทำและเรื่องความลับของเขมรแดง

หลายคนอาจบอกว่าการไปพูดคุยกับฆาตกรและยึดติดกับความเลวร้ายในอดีตไม่ได้ส่งผลดีอะไรขึ้นมา แต่ผมมองว่าบุคคลเหล่านั้นเขาเสียสละอย่างมากในการมาเล่าความจริง พวกเขาทำดีที่กล้าสารภาพ อาจจะเป็นความดีอย่างเดียวที่เหลือที่ยังทำได้อยู่ด้วยซ้ำ พวกเขาเหล่านี้ และรวมไปถึงเหล่านักฆ่าคนอื่นๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดองหากต้องการให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไป

Rob Lemkin

เมื่อสิบปีที่แล้วผมเคยทำสารคดีให้ BBC เกี่ยวกับนักปฎิวัติลึกลับมาเลเซียชื่อ จินเป็ง เขาได้มาร่วมงานตอนที่หนังฉายเปิดตัวที่ลอนดอน และตอนที่กำลังนั่งแท๊กซี่กลับสนามบิน เขาเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อปี 1975 ประธานเหมา เจ๋อตุงได้ส่งเขาไปอยู่กับพลพต เขาบอกผมว่าในความเป็นจริงนั้น พลพตต่างจากที่คนส่วนใหญ่คิดไว้มาก พลพตเคยยอมรับกับเขาว่า หลังจากได้รับอำนาจมาแล้วก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่เข้าใจความเป็นไปของเหตุการณ์รอบตัว เหมือนกระต่ายที่โดนแสงไฟรถส่องเข้าตาจนตกใจลนลานนึกอะไรไม่ออก ซึ่งชินเป็งคิดว่านี่เป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมทุ่งสังหารขึ้น

ภาพของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดจากความสับสนวุ่นวายและไร้ประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ฝังอยู่ในใจของผม จนในปี 2006 ผมเดินทางไปพนมเปญและได้พบกับสัมบัท ผมพบว่าเราสองคนมีความคิดเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ๆ ตามแบบของนักข่าวสืบสวนสอบสวนเหมือนกัน และผมก็พบด้วยว่าเขาเองก็กำลังเดินไปในเส้นทางเดียวกันเพื่อเข้าถึงหัวใจของทุ่งสังหาร แต่ตัวเขาถลำเข้าไปลึกกว่ามาก และมันเป็นเรื่องความเป็นความตายของตัวเขาเองด้วย

ตัวผมเองแม้แทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศกัมพูชาเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะครอบครัวทางฝั่งพ่อของผมหลายคนก็ถูกกองทัพนาซีฆ่า รวมถึงญาติห่างๆ ของผมคนหนึ่ง คือ Raphael Lemkin ก็เป็นผู้บัญญัติคำว่า “genocide” ในภาษาอังกฤษด้วย

ผมมองสัมบัทในฐานะคนที่กำลังพยายามหาเหตุผลให้กับฝันร้ายในวัยเด็กของเขา เมื่อใดที่เขาเข้าใจความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขากำลังตามหามันอยู่ มันจะทำให้เขาบรรลุถึงความสงบภายใน ในการที่จะสามารถเอาความสูญเสียในชีวิตส่วนตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โดยรวม

นอกจากนี้ผมยังมองเขาในฐานะตัวแทนของคนรุ่นที่สอง ที่กำลังพยายามค้นหาความจริงจากคนรุ่นแรก เพื่อที่จะได้นำความหมายของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปถ่ายทอดให้กับคนรุ่นที่สามต่อไป ซึ่งในทางนี้ก็จะเหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน อาฟริกาใต้ ไอร์แลนด์เหนือ ยูโกสลาเวีย ระวันด้า อิรัก หรือซูดาน

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์

ในปี 2006 หลังจากที่มีการเจรจาในระดับนานาชาติมาหลายสิบปี สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาได้ร่วมกันจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อทำการดำเนินคดีกลุ่มผู้นำเขมรแดงระดับสูงในคดีนานาชาติ เรียกว่า องค์คณะไต่สวนพิเศษของศาลกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia หรือ ECCC)

เดือนกันยายน 2007 ศาลได้ควบคุมตัวนวนเจีย ร่วมกับอดีตผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม และศาลมีกำหนดไต่สวนคดีในช่วงต้นปี 2011 นี้

คดีนี้ ปัจจุบันกำลังเป็นที่จ้องจับตาในประชาคมโลก และหลายฝ่ายต่างคาดหวังว่าการไต่สวนในชั้นศาลจะนำไปสู่ความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย แต่ก็มีข้อเคลือบแคลงว่าความจริงทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจจะยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา

ความคืบหน้าล่าสุด

ในระหว่างปี 2009 ทาง ECCC ได้ดำเนินการไต่สวนคดีแรก คือคดีของสหายดุช อดีตผู้คุมเรือนจำตวลสเลง ซึ่งถูกตั้งข้อหาในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในความตายของนักโทษกว่า 10,000 คนในพนมเปญ โดยในวันที่ 26 กรกฎาคม 2010 ศาลได้ตัดสินให้ดุชมีความผิด ต้องโทษจำคุก 35 ปี และล่าสุดผู้ต้องหาได้ยื่นอุทธณ์ โดยมีกำหนดการพิจารณาคดีในขั้นต่อไปในเดือนมีนาคม 2011 นี้

ในขณะเดียวกันก็มีการเตรียมการไต่สวนคดีใหญ่คู่ไปด้วย โดยในเดือนธันวาคม 2009 ECCC ได้มีการเพิ่มข้อหาการฆ่าล้างผ่าพันธุ์เข้าไปในเอกสารคดีของนวนเจีย และอดีตผู้นำเขมรแดงอีกสามคน ประกอบด้วย เขียว สัมพัน อดีตประมุขกัมพูชา, เอียง ธิริธ อดีตรัฐมนตรีกิจการสังคม และสามี เอียง ซารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ศาลมีกำหนดสิ้นสุดการสืบสวนคดีในเร็วๆ นี้

ปัจจุบันคาดว่าการไต่สวนคดีของนวนเจียและผู้นำคนอื่นๆ ซึ่งจะเปิดเผยออกสู่สาธารณะ จะเริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2011

หลายๆ คนเกรงว่าจำเลยวัยอาวุโสเหล่านั้นอาจมีชีวิตอยู่ไมถึงทันฟังคำตัดสินคดี

ประวัติบุคคลในเรื่อง

นวนเจีย หรือ “พี่ชายหมายเลขสอง” เกิดในปี 1925 ที่พระตะบอง และศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ เข้าร่วมกองกำลังต่อต้านเขมรในปี 1949 และเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินในพนมเปญในช่วงปี 1950 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ในปี 1960 และเป็นผู้ตัดสินใจแต่งตั้งพลพตเป็นเลขาธิการพรรคในปี 1962 รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาแห่งชาติกัมพูชาระหว่างปี 1976-1979

เขาออกจากเขมรแดงเมื่อระบอบล่มสลายในปี 1998 และถูกจับกุมในเดือนกันยายน 2007 โดยศาลพิเศษของสหประชาชาติกรณีเขมรแดง เขาถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเดือน ธันวาคม 2003 ปัจจุบันเขาถูกจำคุกในพนมเปญ โดยมีกำหนดเริ่มไต่สวนในปี 2011

คูน เข้าร่วมคณะทหารเขมรแดงในปี 1970 และหลังจากชัยชนะของเขมรแดงในปี 1975 เขาได้เข้าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารของฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ และถูกแต่งตั้งให้มาควบคุมดูแลสหกรณ์ช่วงระหว่างปี 1976 — 1978 เขาเป็นผู้คุมการสังหารหมู่ทหารจากระบอบเดิม รวมถึงชนกลุ่มน้อยที่ต้องสงสัย และผู้ที่ถูกเนรเทศจากฝั่งตะวันออก เขาได้ยอมรับว่าเป็นผู้คุมการสังหารกว่า 3500 คนในยุคเขมรแดง

สูน เข้าร่วมคณะทหารเขมรแดงในปี 1970 ต่อมาปี 1975 ได้ขึ้นเป็นผู้นำกองทหารของสหกรณ์ในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ในระหว่างปี 1976 ถึง 1978 เขาได้ยอมรับว่าเป็นผู้สังหารชาวเขมรกว่า 200 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ศัตรูประชาชน” และเขาทำงานอยู่ในคณะสังหารที่ดำเนินการโดยคูน

ตั้งแต่ปี 1979 เขาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา

พี่ “เอม” เข้าร่วมฝ่ายการเมืองของเขมรแดงในปี 1973 และทำงานเป็นหัวหน้าเขตในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างปี 1975 — 1979 ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สั่งการฆ่าบุคคลจำนวนหลายพันที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของพรรค ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตในชื่อใหม่ในกัมพูชา ในฐานะนักการเมืองอาวุโสในการปกครองท้องถิ่น

เทศกาลและรางวัล

ภาพยนตร์เรื่อง ศัตรูประชาชน (Enemies of the People) ฉายเปิดตัวที่เทศกาลสารคดี IDFA ประเทศเนเธอร์แลนด์ และต่อมาฉายเข้าประกวดที่ Sundance Film Festival ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับรางวัล Special Jury Prize for World Cinema Documentary

ในรอปปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ได้เข้าร่วมฉายในหลากหลายเทศกาลทั่วโลก รวมถึงได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัล Best Documentary ที่งาน 2010 British Independent Film Awards, รางวัลOutstanding Documentary ที่งาน 2010 Hong Kong International Film Festival และรางวัล Grand Jury Award ที่งาน 2010 Full Frame Documentary Festival

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และการเข้าฉายในประเทศไทยนี้ ถือเป็นการฉายครั้งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นอกประเทศกัมพูชา

ปัจจุบัน ทางทีมงานกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการและถ่ายทำภาพยนตร์ภาคต่อ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถชมได้ที่เว็บไซท์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 029394343 Extra Virgin

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว