เปิดค่ายมัธยมพันธุ์ซ่าฯ รวมพลเยาวชนคนอาสา “สร้างสุข จากการให้”

อังคาร ๑๒ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๐:๕๕
มูลนิธิสยามกัมมาจล เปิดค่าย “มัธยมพันธุ์ซ่า สานพลังเครือข่าย แบ่งปันการเรียนรู้ สร้างสุขจากการให้” ร่วมหนุนเสริมศักยภาพ “ครู — เยาวชนแกนนำจิตอาสา” ใน 10 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดโอกาสให้ได้ร่วมกันแบ่งปันการทำความดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงงานจิตอาสา พร้อมแนะนำเครื่องมือ - หลักคิดการทำงานเพื่อสังคม หวังเยาวชนเข้าใจความหมาย สามารถต่อยอด และรู้คุณค่าความสุขจากการ “ให้”เยาวชนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศ ยิ่งได้รับการหนุนเสริมให้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ก็ยิ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพ

โครงการจัดค่ายการเรียนรู้ของเครือข่ายครูและนักเรียนแกนนำจิตอาสาในสถานศึกษา จึงเกิดขึ้น ล่าสุดได้มีการจัดค่าย “มัธยมพันธุ์ซ่า: สานพลังเครือข่าย แบ่งปันการเรียนรู้ สร้างสุขจากการให้” ขึ้น จุดประสงค์เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนแกนนำจิตอาสาให้เกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจความหมายของ “จิตอาสา” อย่างชัดเจนมากขึ้น จากนั้นจึงซึมซับและนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ และทำอย่างมีความสุข

ขณะที่คุณครูที่เข้าร่วมกระบวนการสามารถนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนการเป็นพี่เลี้ยงนำนักเรียนทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นที่ปรึกษา และหนุนเสริมให้เยาวชนผลิตสื่อและร่วมกันถ่ายทอดสิ่งดีๆ สู่สาธารณชนในวงกว้าง

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล เล่าว่า กระบวนการค่ายตลอด 3 วัน 2 คืนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนและกลุ่มครูแกนนำจิตอาสาสามารถขยายผลการทำความดี บอกต่อ และเชิญชวนผู้อื่นให้เข้ามาทำความดีร่วมกันได้ โดยมีคณะวิทยากรจากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ สำหรับเยาวชนที่มาร่วมค่ายเป็นกลุ่มนักเรียนแกนนำของโรงเรียนต่างๆ ที่รวมกลุ่มกันทำโครงงานจิตอาสาพัฒนาโรงเรียนมาแล้ว ครั้งนี้จึงเป็นการมาร่วมกันแบ่งปันว่า สิ่งที่ทำไป ทำให้เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง และจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปแบ่งปันให้กับคนอื่น พร้อมทั้งเชิญชวนกันมาร่วมทำความดีอย่างไรจึงจะทำได้อย่างต่อเนื่อง

มูลนิธิสยามกัมมาจลมองว่าหากเราจะปฏิรูปการเรียนรู้ของสังคมไทยได้นั้น มีสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้นักเรียนมีทักษะชีวิตมากขึ้น การทำโครงงานที่นักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติจริงนั้นจะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้เยาวชนสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ ด้านครูเองก็สามารถแนะนำได้เมื่อเด็กมีปัญหาในการทำงาน คอยเป็นโค้ชให้คำปรึกษา และยังบูรณาการงานจิตอาสาเข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ด้วย” ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าว

โดยค่ายครั้งนี้ถือเป็นการเรียนรู้ของเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในโรงเรียนเป้าหมายในระดับที่ต่อยอดสูงขึ้น หลังจากมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มาแล้ว 2 ครั้ง ในส่วนนี้ นางสุทิน ศิรินคร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการต่อยอดและพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล ชี้แจงว่า ได้แก่ ค่าย พหุปัญญา ... สู่สภาวะผู้นำเยาวชนจิตอาสา ที่เน้นให้เยาวชนแกนนำได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชาวน์ปัญญา และความสามารถของตนเอง เพื่อให้รู้จักและสามารถใช้ความสามารถนั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อทีม รวมทั้งได้เทคนิคการทำโครงงานจิตอาสาบนวิถีทางของความพอเพียง สำรวจปัญหาของโรงเรียนและร่วมกันหาทางแก้ไขจนบรรลุผล อีกกิจกรรมคือ การอบรมการเขียนบันทึกออนไลน์บนเว็บบล็อก www.okkid.net เพื่อให้เยาวชนรู้จักและมีช่องทางถ่ายทอดเรื่องราวจิตอาสาของตนสู่สังคมวงกว้างด้วยการใช้สื่อไอซีทีอย่างสร้างสรรค์

ตัวอย่างโครงงานจิตอาสาของน้องๆ วัยใสที่นำมาแบ่งปันในค่าย เช่น โครงงานของโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ที่ริเริ่มกิจกรรมถึง 3 โครงงาน ได้แก่ โครงงานคลองสวยน้ำใส ซึ่งเกิดจากเด็กนักเรียนที่มองเห็นปัญหาน้ำเสียในคลองภาษีเจริญ จึงช่วยกันรณรงค์เชิญชวนให้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองไม่ทิ้งขยะลงน้ำ แต่กลับมาช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำแห่งนี้ให้ใสสะอาดขึ้น, โครงงานสิ่งแวดล้อมสดใสด้วย EM เป็นโครงงานที่ต่อยอดมาจากโครงงานคลองสวยน้ำใส ใช้จุลินทรีย์ตัวจิ๋วมาปรับสภาพน้ำเสียในโรงเรียนและชุมชนรอบบริเวณโรงเรียน, และ โครงงาน Save Energy ที่เด็กๆ ได้ช่วยกันรณรงค์การประหยัดพลังงานในโรงเรียนเพื่อลดการเกิดภาวะโลกร้อนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่พอเพียง

“จากกิจกรรมเหล่านี้ ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดกิจกรรม ใครสนใจอะไรก็ทำ ตัวครูมองว่าอะไรที่เปิดกว้าง และเกิดจากแรงคิดของเด็กจะติดตัวเขาไปตลอดเหมือนเป็นพลังผลักดัน เขาจะมีแรงขับเคลื่อนสิ่งที่อยู่ภายใน แต่ถ้าเราสั่ง เด็กก็ทำไปตามคำสั่ง แต่หากเป็นความคิดของเขาตั้งแต่แรก เขาจะทำด้วยความเต็มใจและมีความภาคภูมิใจ” ครูยุพดี ขำดี อาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่มกล่าว

เมื่อส่งเสริมเด็กนักเรียนในทางบวกแล้ว จะส่งผลทำให้เกิดเครือข่ายนักเรียนจิตอาสาในโรงเรียนอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งยังเกิดระบบการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยครูไม่ต้องสอน เด็กที่เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาจะมีความเป็นผู้นำ เมื่อนักเรียนเรียนจบแล้วก็ยังกลับมาชวนน้องๆ ที่โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วย

ภาพความประทับใจนี้ยังเกิดขึ้นกับโครงงานจิตอาสาที่ฟากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยด้วย โดยได้มีการจัดทำโครงงาน “จุดเปลี่ยน” ขึ้นเพื่อพาเพื่อนที่หลงผิดคิดริลองสูบบุหรี่ ให้ลดละเลิกได้ก่อนจะติดเป็นนิสัย ผ่านกิจกรรมแฝงความรู้มันส์ๆ อย่างการปาเป้าตอบคำถามถึงโทษภัยของสิ่งเสพติดชนิดนี้

“เราสังเกตว่าถ้ามีบอร์ดโปสเตอร์อย่างเดียวเด็กจะไม่อ่าน ถ้าจะอ่านหมายความว่าต้องมีการบังคับให้ ไปจดมา มีใบงานต้องไปจด แต่ถ้าให้เด็กเล่นเกม เช่น เกมปาเป้าและให้ตอบคำถาม เมื่อเขาปาเป้าแล้วได้คำถาม อย่างน้อยก็ทำให้เขามีความรู้ขึ้นมาหนึ่งข้อ และก็จะแจกแผ่นพับหรือเอกสารให้เพิ่มเติมซึ่งจะจุดประกายให้เขา อยากไปค้นหาต่อ โดยจะตั้งเกมไว้ที่จุดเสี่ยงต่างๆ ที่เขาไปแอบสูบบุหรี่กัน เช่น ห้องน้ำ โรงอาหาร ฯลฯ ถ้าทำกิจกรรมนี้บ่อยๆ เชิญชวนเด็กเข้ามาเล่น ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ ตระหนักถึงปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นได้” ครูจรรยา ธนะนิมิตร ที่ปรึกษาของกลุ่มสะท้อน

คราวนี้ ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากนักเรียนแกนนำกันบ้าง เริ่มจาก น้องปูเป้ - ศิริวรรณ แวดาราแม จากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ เล่าถึงโครงงาน Save Energy ของเธอว่า เกิดขึ้นจากการมองเห็นวิกฤตการณ์ด้านพลังงานว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกหวั่นวิตก ดังนั้นหากเราไม่ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน ก็อาจส่งผลให้อนาคตไม่มีพลังงานใช้

“ยกตัวอย่างที่บ้าน เมื่อก่อนไม่เคยรู้เลยว่าแม่ต้องจ่ายค่าไฟเดือนหนึ่งๆ เท่าไหร่ เราก็จะใช้อย่างไม่คิด เมื่อมาทำโครงงาน ลองสำรวจบิลค่าไฟที่บ้านดู จึงกลับมาทำให้เราได้คิดว่าตัวเองยังเป็นเด็กหาเงินไม่ได้ ไม่น่า ใช้ไฟสิ้นเปลืองอย่างนั้น ดังนั้นถ้าอะไรที่ช่วยประหยัดได้ เราก็น่าจะช่วยทางบ้านประหยัดด้วย” น้องปูเป้เล่า และเมื่อได้คิดและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ปูเป้และเพื่อนจึงรู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และคุ้มค่า มากขึ้น รวมถึงผลสะท้อนจากโครงงานรณรงค์ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเข้าเรียนและปิดเครื่องปรับอากาศ ทันทีหลังเลิกเรียนแล้ว ก็ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงเรียนสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 1 ใน 4

ส่วน น้องนุ่ม - ลัดดา เนาวรัตน์ อีกหนึ่งเยาวชนคนอาสาโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย บอกเล่าถึงสิ่ง ที่ได้รับจากการทำโครงงานจุดเปลี่ยนว่า “รู้สึกสนุก และภาคภูมิใจกับการเข้ามาร่วมรณรงค์แก้ปัญหาการสูบ บุหรี่ของเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน ที่นอกจากเพื่อนๆ จะได้รับประโยชน์จากการลดละเลิกพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ตัวน้องนุ่มเองยังได้ความรู้เรื่องโทษ และพิษภัยของยาเสพติด และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับคน รอบตัว ครอบครัว หรือชุมชนให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติดต่อไปได้อีกด้วย”

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดีๆที่แสดงถึงพลังของเด็กและเยาวชน หากสนใจกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้างสังคมไทย สามารถเข้าร่วมงาน มหกรรมเยาวชนพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 2 “แบ่งปัน เพื่อเปลี่ยนแปลง” ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2554 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพมหานคร

ด้วยความเชื่อว่าแม้เป็นการเริ่มต้นน้อยๆ แต่พลังแห่งการ “ให้”เพื่อสร้าง “สุข” จะเกิดขึ้นในใจเยาวชน และกำลังได้รับการส่งต่อไปไม่สิ้นสุด

สอบถามเพิ่มเติมฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสยามกัมมาจล

02-270-1350-4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ