นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)เปิดเผยว่า พพ.ได้รับรายงานความคืบหน้าถึงการศึกษาและวิจัยพืชพลังงานใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มพืชที่ให้แป้งและความหวานเพื่อผลิตเป็นเอทานอล โดยจะเป็นพืชทางเลือกเสริมต่อจากอ้อยและมันสำปะหลังที่ถือเป็นพืชหลักเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในปัจจุบัน โดยพืชพลังงานใหม่นี้จะได้จาก ต้นสาคู และต้นจาก ที่พบว่ามีศักยภาพการเพาะปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ของไทย อาทิ จ.นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี และนราธิวาส
ทั้งนี้ ต้นสาคู ถือเป็นไม้ตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีอยู่ 2 ชนิดคือชนิดยอดสีแดง และยอดสีขาว โดยสาคูจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ขยายพันธ์ด้วยการแตกหน่อ ชอบอยู่ในที่พื้นที่ชุ่มชื่นมีฝนตกสม่ำเสมอแต่อากาศร้อนหรือมีน้ำจืดขังตลอดปี เช่น ในป่าพรุ โดยมีความสามารถให้แป้งจากบริเวณลำต้น ส่วนต้นจาก ถือเป็นพืชสารพัดประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง เป็นพืชที่เติบโตได้ดีบริเวณชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน โดยจะให้แป้งที่บริเวณลูกจาก นอกจากนี้ทั้งต้นสาคู และต้นจากยังมีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ใบจากและใบสาคูสามารถใช้ในหัตถกรรมเครื่องจักรสาน นำมาเป็นวัสดุมุงหลังคา เสื่อ ตระกร้า รวมไปถึงเป็นพืชที่สร้างความสมดุลทางระบบนิเวสได้ดี และที่สำคัญยังมีส่วนช่วยปรับปรุงสภาพดิน ซึ่งน่าจะช่วยฟื้นฟูพื้นดินบริเวณภาคใต้ภายหลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมในปัจจุบันได้
ด้านความคืบหน้าในการศึกษาวิจัย ที่จะนำพืชทั้ง 2 ชนิดมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล พพ.พบว่า ปัจจุบันต้นจาก ได้รับความสนใจจากบริษัทคันไซ อิเล็คทริก คัมปานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่น ที่ให้ความร่วมมือร่วมกับสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพของน้ำตาลที่ได้จากต้นจากเพื่อผลิตเป็นเอทานอล และในส่วนของต้นสาคู มีองค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO ให้ความสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปแป้งสาคูเป็นการผลิตผลิตเอทานอลต่อไปเช่นกัน
นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า นอกจากความเป็นไปในการผลิตเอทานอลจากพืชพลังงานใหม่ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวแล้ว พพ.ยังพบว่าขณะนี้ การศึกษาและวิจัยจากข้าวฟ่างหวาน (Sweet sorghum) ซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ที่พพ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มศึกษาและพัฒนาไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น มีความคืบหน้าในการศึกษาและได้ผลเป็นที่น่าพอใจถึงศักยภาพในการผลิตเอทานอลเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งพืชพลังงานความหวังของไทย ที่จะเป็นทางเลือกที่ 3 หรือเป็นพืชเสริมที่ใช้ปลูกระหว่างปีต่อจากอ้อย และมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอลต่อไป