สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัด “ประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำบัญชีรายการวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม” ภายใต้โครงการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม โครงการย่อยที่ 3 การลด เลิกการใช้วัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม ในวันอังคารที่ 19 เมษายน 2554 ณ ห้อง Meeting Room 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union : EU) กลุ่มอาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี หรือตามข้อตกลงตามพันธกรณีหรืออนุสัญญาต่างๆ และจัดทำแผนลด เลิกการใช้วัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ประเทศไทยมีการนำเข้าและใช้สารเคมีในกิจการต่างๆ เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงมากขึ้นทุกปี จากสถิติการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตรายในหลายๆปีที่ผ่านมาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีทั้งปริมาณและมูลค่าสูงกว่าภาคการเกษตร และการใช้ในบ้านเรือน ทั้งนี้สารเคมีและวัตถุอันตรายดังกล่าวได้นำไปใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายจากหลายๆ ด้านโดยเฉพาะมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้านสารเคมีของประเทศคูค้า ซึ่งมิได้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย หากแต่ผู้ประกอบการที่มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศเหล่านั้นจะต้องปฎิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หรือเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้มีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งก็ตาม ดังตัวอย่างของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ประกาศใช้ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียน การประเมิน การอนุญาต และการจำกัดการใช้สารเคมีของสหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันดีในชื่อระเบียบ REACH ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นกฎหมายที่มีข้อบังคับมากมายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Registration) ประเมินความเสี่ยง (Evaluation) การใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Authorization and Restriction of Chemicals) และยังเป็นต้นแบบของกฎหมายที่เกียวข้องกับการบริหารจัดการสารเคมีของประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ต้องเตรียมการตั้งรับและปฏิบัติให้สอดคล้องกันอย่างเร่งด่วน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลวัตถุอันตรายที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมตามกฎหมายวัตถุอันตราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสากล ให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบรรลุเป้าหมายในการลดความเสี่ยงจากอันตรายของสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในเวทีการค้าโลกแล้ว ยังมีส่วนช่วยเหลือภาครัฐในการประหยัดงบประมาณจากการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุหรือการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ
“การประชุมในครั้งนี้นับเป็นอีกโอกาสหนึ่งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการความปลอดภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนการลด เลิกการใช้วัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยังมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมและยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น แนวคิดในการหาสารทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังนับเป็นการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมด้านความปลอดภัยแก่ภาคอุตสาหกรรมอีกและชุมชนด้วย คุณมงคล พฤกษ์วัฒนา กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-8