ดังนั้น กระทรวงฯ จึงมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับคนพิการ ด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ให้คำนึงถึงการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) ตามข้อกำหนดเบื้องต้นของ WCAG 2.0 ที่พัฒนาโดย World Wide Web Consortium (W3C) เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพ
“กระทรวงฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ได้เข้าใจและตระหนักถึงแนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แต่ยังขาดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการ กระทรวงฯ จึงจะจัดทำเว็บท่า (Web Portal) สำหรับคนพิการขึ้น เพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูล องค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์และสามารถให้บริการแก่คนพิการทุกประเภท รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง องค์กร และมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่องค์ความรู้
นอกจากนี้การจัดทำเว็บท่าดังกล่าว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมทั้งสิทธิและการมีส่วนร่วมในสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนพิการกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว” นายธานีรัตน์ กล่าว
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นในการรวบรวมข้อมูล จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลความต้องการของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเว็บท่าสำหรับคนพิการให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เว็บท่านี้ได้เป็นศูนย์รวมของข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ คนพิการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป