นายอิสสระ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และถือเป็นนโยบายที่ต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน เพื่อร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศให้เกิดความก้าวหน้า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนของกรุงเทพมหานคร จัดตั้งสภาพัฒนาสังคม ภาคประชาชนกรุงเทพมหานคร ขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกลไกภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาศักยภาพ และสร้างช่องทางให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อการพัฒนา ปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาสในชุมชน มุ่งสู่การเป็นสังคมที่ดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน มีการจัดตั้งสภาฯ ใน ๕๐ เขต และได้พัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนของสภาฯ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดำเนินงานจัดเก็บข้อมูลผู้ด้อยโอกาส จำนวน ๑,๒๐๓ ชุมชน เพื่อจัดทำแผนของชุมชน ซึ่งครอบคลุมการเฝ้าระวังเตือนภัยและสวัสดิการชุมชน สำหรับในปี ๒๕๕๔ นี้ สภาพัฒนาสังคมภาคประชาชน มีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนกรุงเทพมหานคร จำนวน ๕๕ ศูนย์ และศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาสในเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล จำนวน ๓ ศูนย์ ซึ่งจะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และกลไกการทำงานในการคุ้มครอง พิทักษ์ สิทธิ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยทำหน้าที่เฝ้าระวัง เตือนภัย ช่วยเหลือ และ ส่งต่อผู้ด้อยโอกาสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีภารกิจด้านการพัฒนา คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นผู้ประสบภาวะยากลำบากอันเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ การพัฒนาของประเทศ ภัยธรรมชาติ ภาวะสงคราม เป็นต้น และกลุ่มคนซึ่งไม่ได้รับการยอมรับ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมี และถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการทำงานไว้อย่างน้อย ๕ กลุ่ม คือ ๑. คนยากจน ๒. คนเร่ร่อน/ไร้บ้าน ๓. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ๔. คนพ้นโทษ และ ๕. คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ โดยรูปแบบการคุ้มครองมีทั้งการสงเคราะห์ การขับเคลื่อนให้มีหลักประกันด้านสิทธิแก่กลุ่มคนเหล่านี้ และการส่งเสริมศักยภาพคนที่ด้อยโอกาสไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ ได้มอบเงินสงเคราะห์ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสที่มีรายได้น้อย จำนวน ๓๐๐ คนๆละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสภาพัฒนาสังคมภาคประชาชน เขตทวีวีฒนา ได้ทำการสำรวจไว้แล้ว
“ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาสในชุมชน จะเป็นต้นแบบการทำงานและเป็นช่องทางของผู้ด้อยโอกาสในชุมชนให้เข้าถึงสิทธิ โดยจะทำหน้าที่เฝ้าระวังเตือนภัย ช่วยเหลือ และส่งต่อผู้ด้อยโอกาสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสนั้น จะต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ที่คนในสังคมต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดี ให้โอกาส และมีการรวมกลุ่มคนในสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ” นายอิสสระ กล่าว.