สภาที่ปรึกษาฯ เรื่อง เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยพิบัติ กรณีศึกษาอัคคีภัย

พุธ ๒๗ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๒:๐๗
คณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ สภาที่ปรึกษาฯ จัดเสวนาระดมความเห็น เรื่อง “เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยจากภัยพิบัติ กรณีศึกษาอัคคีภัย”

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร จัดสัมมนาเรื่อง “เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยจากภัยพิบัติ กรณีศึกษาอัคคีภัย” โดยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดการสัมมนาภายใต้หัวข้อดังกล่าวว่า การป้องกันอัคคีภัยเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดเหตุ สิ่งแรกที่ควรทำคือการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันอัคคีภัยที่เหมาะสมต่อไป

พล.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องอัคคีภัยไม่เหมือนภัยพิบัติอื่นเพราะต้องทำงานให้ครบวงจรและควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 8 นาที สมัยก่อนกรุงเทพฯ มีตู้รับสัญญาณแจ้งเตือน แต่สมัยนี้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งสะดวกกว่า ในประเทศสวีเดนนั้นมีการทดลองการเกิดของไฟ โดยจำลองห้องสี่เหลี่ยมที่มีเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากนั้นจึงจุดไฟและจับเวลาในการเกิดเปลวไฟ การเกิดควัน เวลาเพียงห้านาที ควันไฟที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช้ากว่านั้นก็อาจจะไม่สามารถช่วยผู้ประสบภัยได้

“เทคโนโลยีการเตือนภัยในบ้านเรานั้นยังไม่สมบูรณ์ แต่ทางกรมป้องกันฯ ก็มีการประสานงานกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเสมอ ถ้าหากได้รับการแจ้งเหตุที่รวดเร็วทันเวลา หรือมีอุปกรณ์ช่วยอย่างเช่น ตัวจับสัญญาณควันไฟ เป็นต้น ก็อาจจะสามารถควบคุมอัคคีภัยได้ทันเวลา” พล.ต.ท.ชุมพล กล่าว

ด้านนายไพศาล สถิตวิบูรณ์ ผอ.ส่วนงานควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับควบคุมไฟป่าว่า สาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ามาจากการหาของป่ามากที่สุด รองลงมาคือการล่าสัตว์และเผาไร่ ด้านการป้องกันไฟป่านั้น ทางกรมอุทยานได้ใช้เทคโนโลยีระบบดาวเทียมจากนาซ่าที่เรียกว่า HotSpots คือการตรวจหากลุ่มควันไฟโดยใช้ดาวเทียม เพื่อบอกพิกัดของพื้นที่ที่เกิดไฟ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แม่นยำ แต่มีข้อเสียคือข้อมูลการแจ้งเหตุที่ได้จะล่าช้ากว่าเวลาจริงถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ยากต่อการลดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ทางกรมอุทยานจะมีการเฝ้าระวังไฟป่าอยู่เสมอ ทั้งการลาดตระเวนโดยการเดินเท้า การใช้ยานพาหนะ ตลอดจนทางอากาศ และมีสายด่วน 1362 ที่รับแจ้งเหตุไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง

นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการ (บริการและสิ่งแวดล้อม) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงการเตือนภัยและการโต้ตอบภาวะฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมว่า การนิคมอุตสาหกรรมฯ มีข้อกำหนดด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมคือ กำหนดให้มีระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย รวมถึงแผนโต้ตอบภาวะฉุกเฉินอัคคีภัยที่ต้องจัดให้มีการซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนปัญหาของการป้องกันนั้นภัยมักมีสาเหตุมาจากหลังเกิดอัคคีภัยแล้ว เจ้าหน้าที่นิคมอุตสาหกรรมไม่ยอมโทรศัพท์แจ้งสถานีดับเพลิง เพราะคิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในบางครั้งก็ก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ด้าน รศ.ดร.สุรชัย รดาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัยและอาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถิติการเกิดอัคคีภัยในกรุงเทพมหานครประจำปี 2553 เฉลี่ยแล้วเกิดเพลิงไหม้อาคาร 11 ครั้ง/เดือน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นมักเสียชีวิตภายในบ้านของตนเอง ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนการอพยพคนออกจากครอบครัวล่วงหน้า โดยมีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและเตรียมเส้นทางหนีไฟเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน

“ด้านแผนการระงับอัคคีภัยนั้น แต่ละบ้านจะมีตัวปั๊มน้ำอยู่แล้ว หากปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็จะสามารถใช้เป็นตัวควบคุมไฟได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จุดอ่อนของระบบดับเพลิงในบ้านพักอาศัยคือถังเก็บน้ำสำรองเพื่อการดับเพลิงนั้นมีขนาดเล็กเกินไป และในหลายหมู่บ้านก็ไม่ได้มีการวางแผนติดตั้งระบบดับเพลิงที่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินและคนที่เรารักได้” รศ.ดร.สุรชัยฯ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO