นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างในบริษัทเอกชนจำนวน 1,800 คน และ กลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการจำนวน 260 บริษัทพบว่า คนทำงานนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของ เงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งในรูปของเงิน และสวัสดิการต่างๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีถึง 52%ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมา 12% เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม และ 7% ต้องการกำลังใจและคำชมจากนายจ้าง ในขณะที่นายจ้าง 41%ร้องขอให้ลูกจ้างช่วยกันใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างประหยัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท 36% อยากให้ลูกจ้างขยันทำงานมากขึ้น และอีก 14% อยากมาทำงานตรงเวลาและลางานน้อยลง”
ความต้องการของลูกจ้าง VS ความต้องการของนายจ้าง
ลูกจ้าง นายจ้าง
ขอเงินเดือนเพิ่ม ให้พนักงานช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสำนักงาน
การปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม รับฟังความคิดเห็น ให้พนักงานขยันทำงาน
การชมเชย ให้กำลังใจ ไม่มาทำงานสาย
ขอเลื่อนตำแหน่ง ลาป่วยให้น้อยลง
ขอวันหยุดเพิ่ม ไม่เล่นFace Book หรือ MSN ในเวลางาน
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2554 จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนของผู้ว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2554มีจำนวนทั้งสิ้น 2.68 แสนคนซึ่งลดลง 1.15 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี2553 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จากการสำรวจของจ็อบสตรีทดอทคอมพบว่า ตัวเลขของคนที่ต้องการเปลี่ยนงานกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มการเปลี่ยนงานมากถึง 92%
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ย้ายงาน 52% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้เหตุผล ว่า ไม่พอใจกับเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ได้เงินเดือนเพียงพอในการใช้จ่ายแต่ละเดือนแต่ไม่เหลือเก็บ มีเพียง 8% เท่านั้นที่พอใจกับเงินเดือนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า23% ของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานเป็นเพราะต้องการประสบการณ์ทำงานใหม่ๆ และ 13% ระบุว่าไม่พอใจเจ้านายสำหรับเหตุผลอื่น ได้แก่ งานที่ทำเครียดเกินไป ต้องการเวลามากขึ้น เป็นต้น
ในส่วนของลูกจ้างที่ยังไม่ย้ายงานนั้น 18% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าสาเหตุที่ยังไม่เปลี่ยนงาน เนื่องจากยังหางานใหม่ไม่ได้ และ 13% พอใจสถานที่ทำงานซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เหตุผลรองลงมาได้แก่ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี, ชอบงานที่ทำอยู่, พอใจเงินเดือน, มีเจ้านายที่ดี เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือมีจำนวนเพียง 2% ที่ให้เหตุผลในการทำงานที่เดิมว่ารักองค์องค์และพอใจกับวัฒนธรรมในองค์กร
ในขณะที่ความต้องการของคนทำงานในฐานะลูกจ้างยังสวนทางกับความต้องการของนายจ้าง จ็อบสตรีทดอทคอมได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมถึงทัศนคติของลูกจ้างที่มีต่อกระบวนการพิจารณาเพิ่มเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ดี โดย 48% เชื่อมั่นว่า โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งงานอยู่ที่ผลงานและความสามารถ อีก 18% เห็นว่า เป็นเพราะเชื่อฟังและทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และ 12% เห็นว่า ขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน
ในทางตรงกันข้ามยังมีอีก 17% ที่มีทัศนคติในด้านลบต่อการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง และเห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับ ความสนิทสนมกับผู้บังคับบัญชา, การประจบเจ้านาย, การมีพวกพ้อง และขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต ปัจจัยเรื่องวัยวุฒิและบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่ถูกอ้างถึงเป็นลำดับสุดท้าย
ในมุมมองของนายจ้าง ปัจจัยที่นำมาพิจารณาเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้พนักงาน 5 อันดับแรก คือ
1. พนักงานมีความรู้ความชำนาญในหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี 61.8%
2. ดูจากผลการประเมินการปฏิบัติงานที่ผ่านมา 58.7%
3. พนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากกว่าตำแหน่งงานที่ทำอยู่ 52.1%
4. ดูจากผลจากการพิจารณาและการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา 43.6%
5. พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน 23.2%
นอกจากนี้สิ่งที่นายจ้างเลือกนำมาพิจารณาเพื่อเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งหมายรวมถึงเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ ให้กับพนักงานนั้น 91.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม พิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทในรอบปีลำดับที่สองคือพิจารณจากผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคนในรอบปีอันดับ 3ดูจากผลการบรรลุเป้าหมายของฝ่าย/แผนกอันดับที่ 4.พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออันดับที่ 5พิจารณาจากข้อมูลเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
“งานสำรวจครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้แสดงออกถึงความต้องการ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่เราให้ความสำคัญกับแรงงานไทย ในการช่วยสะท้อนความต้องการของลูกจ้างเหล่านี้ ไปยังนายจ้าง ในขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอมุมมองในส่วนของนายจ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีความคิดที่อาจจะสวนทางกันอยู่หวังว่าผลสำรวจครั้งนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะมีผลดีต่อการปรับทัศนคติในแง่บวกให้คนทำงาน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนงานการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรต่างๆ ต่อไป” นางสาวฐนาภรณ์กล่าวเพิ่มเติม