ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ศุกร์ ๒๙ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๖:๒๐
วันนี้ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ TDRI ได้จัดสัมมนาเรื่องระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการที่ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นงบปลายเปิด คือ เบิกเท่าไร ก็สั่งจ่ายเท่านั้น กรมบัญชีกลางซึ่งดูแลเรื่องนี้ ก็ไม่มีเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้ทั้งผู้ป่วยและหมอขาดแรงจูงใจที่จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องผู้ป่วยนอก เป็นปัญหามาก ในปี 2550 ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นถึง 40% เป้าหมายของการวิจัยจึงเป็นเรื่องว่า เราจะสร้างระบบอย่างไรให้มีการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพขึ้นในขณะเดียวกันสุขภาพของข้าราชกก็ไม่ได้แย่ลง

ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างปัญหา แต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายที่สูง เช่น ปี 2553 ข้าราชการที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด 1% ของผู้ป่วยทั้งหมด ใช้เงินถึง 20% ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอก หรือเฉลี่ยคนละ 3 แสนบาทสำหรับผู้ป่วยนอกอย่างเดียว ยังไม่รวมผู้ป่วยใน การเจ็บป่วยของคนกลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การใช้จ่ายนั้นต้องหาทางทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเงินที่จ่ายออกไปเป็นเงินของตน เพื่อให้การตัดสินใจใช้จ่ายมีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าเป็นเงินจากกระเป๋ารัฐอย่างเดียวก็อาจจะไม่ต้องคิดมากอะไรในการจ่ายแต่ละครั้ง ถ้ามีการสร้างระบบที่ดี ผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้เงินเพื่อสุขภาพของตนมากกว่านี้

นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เราน่าจะกำหนดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของข้าราชการให้เป็นสัดส่วนกับงบเงินเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเติบโตอย่างไม่จำกัด การที่จะมาจำกัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียวอาจจะไม่เหมาะสม

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว กรมบัญชีกลางจะมีการศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ยังมีโอกาสพัฒนาในด้านอื่นๆ ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการอีก เหตุผลหนึ่งเนื่องจาก ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นระบบที่มุ่งเน้นการให้สวัสดิการด้านรักษาพยาบาลเป็นหลัก ยังไม่ได้นำแนวคิดของการจัดการสุขภาพที่มีความเป็นองค์รวมเพื่อการดูแลสุขภาพระยะยาวเข้ามาบูรณาการด้วย แนวคิดดังกล่าวน่าจะทำให้ข้าราชการและครอบครัวได้รับการดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วนมากขึ้น ส่งเสริมคุณภาพ และทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงได้จากการป้องกันความเจ็บป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องและได้รับการส่งเสริมให้มีศักยภาพในการดูแลตนเองมากขึ้น

จากการศึกษานำร่องโดยการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการร่วมกับการติดตามศึกษาข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิสวัสดิการรรักษาพยาบาลข้าราชการกลุ่มตัวอย่างที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอันได้แก่ กลุ่มโรคเบาหวาน และกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ผู้ป่วยจำนวนประมาณ 1 ใน 4 มีการไปใช้บริการที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมากกว่าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า การทบทวนข้อมูลการรักษาทำให้เห็นว่าผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังดังกล่าว ประมาณร้อยละ 13—24 ยังไม่ได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง และร้อยละ 15-50 ยังไม่ได้รับการดูแลครบถ้วนตามแนวทางเวชปฏิบัติแล้วแต่กรณี นอกจากนี้กว่าร้อยละ 80 ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้รับการสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ ข้อมูลดังกล่าวพบร่วมกับการที่อัตราการรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังทั้งสองกลุ่มเข้ารักษาในโรงพยาบาลของกลุ่มผู้ป่วยสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สูงกว่าตัวเลขของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยกว่า 3-4 เท่า

โดยหลักทฤษฏีแล้ว หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องครบถ้วน และมีความสามารถในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างเพียงพอ ความเจ็บป่วยถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลน่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือมีผลดีทั้งทำให้คุณภาพบริการและสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่าย คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้กรมบัญชีกลางนำแนวทางการจัดการผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือที่เรียกว่า Chronic Disease Management มาประยุกต์ใช้ในการจัดการบริการสุขภาพให้กับผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เทคนิคการจัดการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีการนำมาใช้แล้วในระบบหลักประกันสุขภาพในหลายประเทศ มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมีผู้ให้บริการสุขภาพประจำตัว ได้รับการดูแลสุขภาพภายใต้การจัดการเชิงระบบ ให้เกิดความต่อเนื่อง ครบถ้วน และให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่มุ่งสร้างเสริมความสามารถในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วย เพื่อควบคุมโรคให้ได้ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังกล่าว ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล น่าจะสามารถลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรครวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version