เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.54) นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2554 นี้ กระทรวงพลังงานได้รับเกียรติจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ในการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมซักซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานในระดับภูมิภาคเอเปค- อาเซียน (IEA-APEAC/ASEAN Emergency Response Exercise) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเปค-อาเซียน และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมฯ จากเหตุผลด้านความพร้อม ประสบการณ์ และการได้รับการยอมรับในการจัดการปัญหาพลังงานจากนานาประเทศ
การจัดประชุมฯ ในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากผลการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศเอเปคเมื่อปีที่ผ่านมา ณ เมืองฟุกุ้ย ประเทศญี่ปุ่น ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน และเนื่องด้วยวิกฤตด้านพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันนั้น มีความเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาค เช่น ปัญหากรณีกลุ่มประเทศโอเปคมีการลดกำลังการผลิต ภาวะความไม่สงบทางการเมืองในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศลิเบีย ที่ส่งผลต่อ
นานาประเทศในด้านปริมาณและราคาน้ำมัน สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของตลาดน้ำมันในระดับโลก รวมทั้งมีการหยิบยกการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานจากกรณีโรงไฟฟ้า Fukushima ของประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่งในการประชุมจะมีการหามาตรการป้องกันรวมถึงแนวทางแก้ปัญหาในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกว่า 21 ประเทศ พร้อมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงพลังงาน จากภาครัฐและเอกชน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงาน กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่มโรงไฟฟ้า ผู้ผลิตพลังงานภาคเอกชน นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ผู้แทนจากIEA และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเปค อาเซียน รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน
“การจัดประชุมซักซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน ร่วมกับ IEA ครั้งนี้ ได้กำหนดจัดขึ้น 2วัน คือในวันแรก (2 พ.ค.) จะเป็นการสัมมนาเชิงทฤษฎีจากประสบการณ์ของนานาประเทศและมาตรการขององค์กรระหว่างประเทศ ส่วนในวันที่สอง (3พ.ค.) เน้นการจัดการและแก้ไข
ปัญหาจากการตั้งสมมุติฐานเพื่อจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขาดแคลนแหล่งพลังงานที่สำคัญๆ ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากทั่วโลก ซึ่งกระทรวงพลังงาน เชื่อมั่นว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมบริหารจัดการและหามาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตการขาดแคลนพลังงานในอนาคต” นายณอคุณกล่าว