นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมกล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการเตรียมพร้อมให้กับเครือข่ายสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 100 แห่ง โดยหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งจะต้องทำการถอดองค์ความรู้จากกิจกรรมที่ดำเนินการทั้งหมด ออกมาเป็นต้นฉบับหนังสือเล่มเล็ก เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการตรวจพิจารณา และเข้าสู่กระบวนการเผยแพร่ต่อไป
นายวิวรรธ วรรณศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองตาบ่ง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “ หนองตาบ่ง ได้รับการพิจารณาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านจิตอาสาเพื่อสังคม โดยเริ่มดำเนินการร่วมกับชุมชนและผู้ปกครองมาตั้งแต่ปี 2549 โดยแบ่งกิจกรรมหลักเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1. กิจกรรมครูจิตอาสา โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การวาดภาพและการแสดงหุ่นมือช่วงหลังโรงเรียนเลิก โดยมีขนมและของรางวัลจูงใจ เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 2. ยุวชนจิตอาสา โดยมอบหมายกิจกรรมให้เยาวชนใช้เวลาว่างช่วยเหลืองานในครอบครัวและกิจกรรมในชุมชน 3. พ่อแม่อุปถัมภ์ โดยเลือกจากความพร้อมและความมีจิตอาสาของคนในชุมชน โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้แก่เยาวชนช่วงหลังเลิกเรียน ในกิจกรรมทั่วไปเช่น การทำอาหาร กีฬา งานประดิษฐ์ ฯลฯ ตามความถนัด ซึ่งจากการนิเทศและประเมิณผลพบว่า ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรมต่างๆลงได้ ”
นางสะอ้าน สินารักษ์ ครูชำนาญการโรงเรียนต้นบากราษฏร์บำรุง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ในฐานะศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการเสริมสร้างเด็กดีมีวินัย เปิดเผยว่า “ เรายึดคอนเส็ปต์นี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานเครือข่ายศูนย์คุณธรรม เมื่อปี 2550 โดยเน้นวินัยที่บ้านและโรงเรียน เพราะเราเชื่อว่า พื้นฐานความดีต้องเริ่มที่บ้านด้วย ดังนั้นกิจกรรมจึงควบคู่กันไปทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างครูและผู้ปกครอง จึงคาดหวังว่า องค์ความรู้ที่สัมฤทธิ์ผลจากโครงการที่เราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องได้เผยแพร่ออกไปจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อส่วนรวมที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง”