วว. สำรวจพบจำปีเพชร..พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ครั้งแรกในประเทศไทย ประสบผลสำเร็จขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

พุธ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๔๙
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำรวจพบจำปีเพชร...พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดเพชรบุรี เผยประสบผลสำเร็จขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน แนะนำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับลงแปลงกลางแจ้งได้ในพื้นที่ทั่วประเทศ

นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำรวจพบ “จำปีเพชร” ซึ่งเป็นจำปีพื้นเมืองที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดของไทยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นการสำรวจพบที่มีรายงานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เรียกว่า “new record to Thailand” แต่ไม่ใช่เป็นการสำรวจพบชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย (new species) และขณะนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยการนำปลายยอดของกิ่งจำปีเพชรขาวมาทดลองเสียบยอดกับต้นตอจำปาพบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบภาคกลาง แตกกิ่งก้านจำนวนมาก จากนั้นได้ทำการทาบกิ่งจำปีเพชรด้วยต้นตอจำปาอีกครั้งหนึ่ง พบว่าวิธีการขยายพันธุ์จำปีเพชรโดยวิธีการทาบกิ่งด้วยต้นตอจำปาเป็นวิธีการที่ได้ผลดี สะดวก รวดเร็วและประหยัด สามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก เมื่อนำออกปลูกนอกถิ่นกำเนิดเดิม ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี จึงนับได้ว่าจำปีเพชรในประเทศไทยไม่มีโอกาสสูญพันธุ์แล้ว ผู้สนใจสามารถนำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับลงแปลงกลางแจ้งได้ในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าหากปลูกบนภูเขาหรือบนพื้นที่ระดับสูงจะออกดอกได้เร็ว เนื่องจากจำปีเพชรชอบแดดจัดและความชื้นสูง โดยเฉพาะปลูกในดินร่วนจะดีมากเพราะชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบดินชื้นที่มีน้ำขังแฉะ แต่ไม่แนะนำให้ปลูกเป็นไม้กระถางเนื่องจากเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่

ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า จำปีเพชรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia mediocris (Dandy) Figlar มีการสำรวจพบครั้งแรกของโลกที่ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2471 สำหรับในประเทศไทยมีการสำรวจพบครั้งแรกโดย วว. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 จากบนสันเขาใกล้แนวชายแดนไทย-พม่า ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร สำหรับเหตุผลที่เรียกว่า “จำปีเพชร” เนื่องจากสำรวจพบครั้งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี

“หลังจากที่ วว. ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การอนุรักษ์พรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาในประเทศไทย” จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ก็ได้ทำการสำรวจพรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาทั่วประเทศ แล้วได้พบจำปีเพชรขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 ต้น นับว่าหายากและใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่มีต้นกล้าเล็กๆ ขึ้นอยู่เลย มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เกรงว่าจะสูญพันธุ์ จึงหาทางขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์มิให้สูญพันธุ์ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ได้มีการสำรวจพบจำปีเพชรอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 2 ต้น ในพื้นที่ป่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ในเขตจังหวัดจันทบุรี ในระดับความสูง 1,000 เมตร เป็นต้นขนาดใหญ่มาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนต้นถึง 2.50 เมตร และมีความสูงราว 40 เมตร แต่ก็ไม่พบต้นกล้าขนาดเล็กขึ้นอยู่ที่ใต้ต้นแม่พันธุ์แต่อย่างใด ในขณะนั้นพบผลอ่อนร่วงอยู่ จึงรอจนถึงเดือนตุลาคม แล้วเข้าไปเก็บผลแก่มาเพาะเมล็ด ปรากฏว่าเมล็ดไม่งอกทั้งหมด ต่อมาได้นำปลายยอดมาทดลองเสียบกิ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2552 จึงประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดโดยการเสียบยอดและทาบกิ่ง แล้วทำการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสู่เกษตรกร จนเกษตรกรสามารถขยายพันธุ์เองได้ นับว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ แล้วยังช่วยให้จำปีเพชรแพร่หลายได้รวดเร็วขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ วว. ที่ช่วยขยายพันธุ์จำปีเพชร ต้นไม้ที่เคยหายากและใกล้สูญพันธุ์ ให้คนไทยได้นำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม มีกลิ่นหอมแรง ช่วยอนุรักษ์ไว้มิให้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย หรือสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้แล้ว นับถึงวันนี้ วว. รับประกันได้ว่า จำปีเพชรไม่สูญพันธุ์แล้ว” ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น กล่าว

จำปีเพชร เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-40 เมตร โคนต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ใหญ่ถึง 2.50 เมตร เปลือกลำต้นหนาสีน้ำตาลและมีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยวรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร มีก้านใบยาวมาก คือยาว 2-3.5 เซนติเมตร ที่ก้านใบไม่มีรอยแผลของหูใบ ออกดอกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด เป็นดอกขนาดใหญ่และสวยงาม มีกาบหุ้มดอก 1 แผ่นและที่กาบหุ้มดอกมีขนสีเหลืองทองปกคลุมหนาแน่น กลีบดอกสีขาว จำนวน 9-10 กลีบ แต่ละกลีบยาว 3.5 เซนติเมตร ดอกเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมในเวลาพลบค่ำแล้วบานในวันรุ่งขึ้น ในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดดรุนแรง จะส่งกลิ่นหอมได้น้อยลง แล้วกลีบดอกแต่ละกลีบจะร่วงในวันถัดมา มีผลกลุ่มเป็นช่อยาว 2-3.5 เซนติเมตร มีผลย่อย 3-6 ผล แต่ละผลมี 1-3 เมล็ด เมื่อผลแก่แล้วผลย่อยจะแตกออกเป็นแนวเดียว มีเมล็ดแก่สีแดงเข้มจำปีเพชรมีดอกที่แตกต่างกันเป็น 2 แบบ คือมีกลีบดอกสีขาวล้วน เรียกว่า จำปีเพชรขาว และมีกลีบดอกลายแดง เรียกว่า จำปีเพชรลายแดง ขณะนี้ วว. สามารถขยายพันธุ์ต้นจำปีเพชรขาวได้แล้ว เป็นต้นที่มีดอกดก กลิ่นหอมแรง ปรกติจะออกดอกในเดือนกันยายนถึงมกราคม (แต่บางปีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฤดูออกดอกก็จะเปลี่ยนแปลงไป) มีกลีบดอกจำนวน 9-10 กลีบ แต่ละกลีบยาว 3.5 เซนติเมตร ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ