เอ็มเทค ร่วม4 มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วประเทศ และสถาบันไฟฟ้า ฯ จัดการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ ครั้งที่ 4

พฤหัส ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๓๔
เอ็มเทค ร่วม4 มหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วประเทศ และสถาบันไฟฟ้า ฯ จัดการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ ครั้งที่ 4 เฟ้นหาแชมป์ประเทศไทยไปร่วมชิงชัยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันการศึกษาทั้ง 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4” (Robot Design Contest 2011, RDC2011) เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบและสร้างกลไกสำหรับหุ่นยนต์ ส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักทำงานเป็นทีม และเฟ้นหาทีมตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในเวทีสร้างหุ่นยนต์ระดับโลก IDC RoBoCon 2011 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นประธานเปิดงาน ณ ชั้น 4 อาคารดิจิตอล เกตเวย์ สยามสแควร์

รองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน RDC2011 กล่าวถึง การแข่งขันในครั้งนี้ว่า จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบและสร้างกลไกสำหรับพัฒนาหุ่นยนต์ และเฟ้นหาทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคม 2554 นี้

โดยในปีนี้มีความพิเศษ คือ ทางผู้จัดการแข่งขันฯได้ขยายฐานการแข่งขันไปยังนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 4 มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสาน - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภาคใต้ — มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ภาคกลาง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้เรามีเยาวชน นิสิต นักศึกษาผู้เข้าแข่งขันระดับภูมิภาคที่ผ่านการคัดเลือกเตรียมเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศจำนวน 56 คน จาก 24 สถาบัน รวม 12 ทีม โดยจะเก็บตัวเพื่อออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาทุกคนที่เข้าแข่งขันเพื่อให้ความรู้ทางด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ในระหว่างวันที่ 9-26 พฤษภาคม พ.ศ.2554 นี้ ณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี

ส่วนรูปแบบการแข่งขันฯ คือ ทีมแข่งขันประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาคละสถาบันการศึกษา จะได้รับการอบรมเพื่อสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ตามโจทย์ที่กำหนด โดยจะกำหนดวัสดุ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ที่กำหนดให้ โดยปีนี้ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันฯ คือ “Green Energy for The Green Planet” เพื่อเน้นย้ำให้เยาวชนตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม รู้จักนำพลังงานสีเขียวมาใช้ในภาวะที่โลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ภาวะโลกร้อน โดยผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมจะออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เพื่อจัดเก็บพลังงานทดแทนซึ่งได้จำลองสนามแข่งขันให้เป็นฐานพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ

น.ส.ทรงสุดา ลัคณารัตนโชค นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนจากทีม WAVE กล่าวว่า ตนทราบข่าวการแข่งขันจากรุ่นพี่ที่คณะเพราะเมื่อปีที่แล้วรุ่นพี่เขาได้มาสมัครแข่งขัน และอาจารย์ก็มาพูดประชาสัมพันธ์ให้ทราบข่าวด้วยว่ามีการจัดการแข่งขันฯดังกล่าวใครสนใจก็ให้มาเขียนใบสมัคร เลยตัดสินใจมาลงสมัคร ส่วนโจทย์ในการแข่งขันรอบคัดเลือกที่ผ่านมา จะเป็นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ใช้กู้ภัยวิกฤติภัยนิวเคลียร์ เป็นการตักน้ำทะเลเพื่อไปลดระดับความร้อนในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น โดยสมมุติน้ำทะเลเป็นลูกปิงปอง แล้วลำเลียงไปใส่ในกล่องที่มีฝาครอบอยู่ โดยเหลือใช้เทคนิคความเร็วที่ได้ทำการทดลองซ้ำๆเพื่อหาจุกบกพร่องแล้วนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขให้เหนือกว่าคู่แข่งทีมอื่นๆ

“การแข่งขันในครั้งนี้ก็คิดว่าดีนะคะที่ได้จัดให้แข่งขันกันทั่วประเทศใครที่มีความสามารถก็จะได้มีเวทีที่ใช้แสดงความสามารถ ส่วนตัวคิดว่าการแข่งขันในครั้งนี้คงจะได้รับอะไรเยอะมากไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องวิธีการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ได้รู้จัดการทำงานร่วมกับคนอื่น ได้เพื่อนได้สังคม และทำให้รู้ว่าความสามัคคีในการทำงานแบบกลุ่มนั้นมีความสำคัญมากจริงๆ ค่ะ” น.ส.ทรงสุดากล่าว

นายวศิน ธรรมสิงตา นักศึกษาระดับปวส.ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 2 จากลำปางเทคโนโลยี ตัวแทนจากทีมBiogas กล่าวว่า ส่วนตัวผมสนใจเรื่องการประดิษฐ์สิ่งต่างๆอยู่แล้ว เลยตัดสินใจสมัครแข่งขันในปีนี้ โดยโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันรอบคัดเลือกที่ผ่านมา ทางทีมตนเลือกประดิษฐ์หุ่นแบกน้ำ มีการนัดมามาระดมความคิด ช่วยกันทำงานทำให้ตนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ทั้งเทคนิคการประดิษฐ์หุ่นยนต์ การต่อมอเตอร์ เราจะได้นำความรู้ที่ได้จากการทำงานร่วมกับเพื่อนๆมาพัฒนาฝีมือตัวเองในชั้นเรียนด้วย

สำหรับการแข่งขัน IDC RoBoCon หรือ การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย การแข่งขันรายการนี้มีมาตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งประเทศไทยได้ส่งทีมตัวแทนประเทศไปร่วมแข่งขันในเวทีสร้างหุ่นยนต์ระดับโลกนี้ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ถึง 4 ปีซ้อน ในการแข่งขัน “IDC RoBoCon 2007” ที่จัดขึ้นในประเทศไทย การแข่งขัน “IDC RoBoCon 2008” ที่ประเทศบราซิล, การแข่งขัน “IDC RoBoCon 2009” ที่ประเทศญี่ปุ่น และ การแข่งขัน “IDC RoBoCon 2010” ที่ประเทศจีน

ในส่วนของการแข่งขัน RDC 2011 ในปีนี้นั้นยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย —ญี่ปุ่น) และ บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด (ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า) สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะมีขึ้นใน วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2554 ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ชั้น 1 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4680 หรือ www.mtec.or.th/RDC2011

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์

งานประชาสัมพันธ์ เอ็มเทค บริษัท คูดี จำกัด โทรศัพท์

โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4673 0-2960-0263-4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม