มศว.ผนึกนักวิชาการ จับมือองค์กรทางเศรษฐกิจและพลังงาน ชี้ทางออกนโยบาย พลังงานไทย

พฤหัส ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๕๓
มศว.ผนึกนักวิชาการ จับมือองค์กรทางเศรษฐกิจและพลังงาน ชี้ทางออกนโยบาย พลังงานไทย วอนภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน แสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ภายใต้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย หวังดันโครงสร้าง ราคาพลังงานให้ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ จัดเสวนาทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แนวทางนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทย เน้นภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ พร้อมทำความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หวังดันโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรม เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาในตลาดโลก ผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน การกำหนดนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทยเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการบริโภคและจัดสรรพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนครัวเรือนต่างๆ ในประเทศไทย โดยจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบด้านพลังงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ดำเนินการ และ สร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้นจริง

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น้ำมันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นพลังงานทีใช้ในภาคธุรกิจการขนส่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงส่งผลต่อประเทศไทย ดังนั้น หากหน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดนโยบายทางพลังงานที่ชัดเจนและวางแผนถึงอนาคต ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ภาคเศรษฐกิจได้มีการวางแผน พร้อมรับสถานการณ์ทางพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น

คุณหิน นววงศ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายราคาพลังงานของประเทศ มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของภาคเอกชนอย่างแน่นอน ดังนั้น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ปี 2553-2573 จึงมุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศตามมติกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผ่านนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และมาตรการ ADDER โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้า ตามนโยบายการลดภาวะโลกร้อนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอนโยบายจุดยืนด้านพลังงานโดยยึดโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน ที่แท้จริง และเป็นธรรม เร่งสร้างคุณภาพของพลังงานที่ดี เพียงพอต่อความต้องการใช้ ภาครัฐควรให้ระยะเวลา แก่ภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวเมื่อมีการปรับราคาพลังงาน พร้อมปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพิ่มมาตรการช่วยเหลือในการจัดหาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ส่งเสริมเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงทางเลือก เพิ่มมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นอกจากนี้ภาครัฐควรกำหนดนโยบายและแผนพลังงานระยะยาวของแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจนบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ อย่างทั่วถึง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด

คุณมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า นโยบายราคาพลังงานของประเทศมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของภาคเอกชน จากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในปีนี้ ปรับตัวสูงขึ้น 25-30 ดอลล่าร์ ต่อบาเรล ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ซึ่งมาจากปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาน้ำมันในปัจจุบัน คือ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน การจ้างงาน ความมั่นใจ การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ การแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ การปรับลดงบประมาณ เศรษฐกิจชะลอตัวของกลุ่มทวีปยุโรป การชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจปรับลดมาตรการกระตุ้นการเงินการคลังของจีน การฟื้นตัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัตินิวเคลียร์ ของญี่ปุ่น การตัดสินใจของ OPEC ในเรื่องโควต้าการผลิตน้ำมัน การตรึงดอกเบี้ยในอัตราต่ำส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐยังคงอ่อนค่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การโจมตีของกองกำลังติดอาวุธในไนจีเรีย ฤดูพายุเฮอริเคนตั้งแต่ เดือนมิถุนายน — พฤศจิกายน และภัยธรรมชาติต่างๆ

ปัจจุบันนโยบายราคาพลังงานของประเทศเน้นที่เสถียรภาพของราคาเป็นหลักโดยใช้กองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นและสนองตอบวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหา ทางเศรษฐกิจในระยะยาว แนวทางการแก้ไขปัญหาพลังงานจะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ลดการอุดหนุน การตรึงราคาพลังงานและปล่อยลอยตัวในที่สุด ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้พลังงาน ที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยการกำหนดนโยบายด้านพลังงานกับภาวะความผันผวนของราคาพลังงานต้องเน้นไปที่ประสิทธิภาพของการใช้พลังงานมีเป้าหมายในการลดการนำเข้าพลังงานในระยะยาว ส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานทดแทนและหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ลดการอุดหนุนพลังงานจากฟอสซิลควบคู่ไปกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น กองทุนน้ำมันควรทำหน้าที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาพลังงานในระยะยาวโดยส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนและ การขนส่งระบบท่อ จัดทำระบบบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันและพลังงาน ตลอดจนจัดตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานะทางพลังงานของไทยมีแหล่งที่มาจากพลังความร้อนร่วม 15,602.0 เมกะวัตท์ คิดเป็น 52.2% พลังความร้อน 8,965.6 เมกะวัตท์ คิดเป็น 30.0% พลังน้ำ 3,424..2 เมกะวัตท์ คิดเป็น 11..5% พลังงานทดแทน 288.1 เมกะวัตท์ คิดเป็น 0.9% กังหันแก๊สและเครื่องยนต์ดีเซล 971.4 เมกะวัตท์ คิดเป็น 3.3% สายส่งจากล่าว 340 เมกะวัตท์ คิดเป็น 1.1 % และ สายส่งจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตท์ คิดเป็น 1 % ซึ่งคาดว่าในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากช่องทางอื่นหรือจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น นโยบายด้านพลังงานจึงต้องมีประสิทธิผล ดูแลปัจจัยด้านความมั่นคง ความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและความก้าวหน้ามาประยุกต์ใช้ในการควบคุมและเพิ่มศักยภาพทางพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้ง เสาะแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ โดยเน้นพลังงานสะอาดเพื่อโลกสีเขียวด้วยความรับผิดชอบ เพื่อการสะสมพลังงานไว้ใช้ในอนาคต นอกจากนี้ต้องมีการคิดค้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น โดยกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจทุกผ่ายและตั้งอยู่บนความปลอดภัยที่สามารถควบคุมได้

คุณณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจากภาคเอกชน เปิดเผยว่า ในส่วนนโยบายพลังงาน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ หากภาครัฐมีมาตรการที่จะให้เอกชนเข้ามาดูแล และพัฒนาพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต ตลอดจนแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทางปตท.มีความพร้อมและยินดีและขานรับนโยบายจากภาครัฐ ในการจัดสรรพลังงานเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม-ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

คุณฉัตรปวีร์ ณัฐนิธิEmail; [email protected]; [email protected];

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version