การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ CIMBT ในครั้งนี้สะท้อนเหตุผลหลักที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานระหว่าง CIMBT และ CIMB Bank Berhad ของมาเลเซีย (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีเหตุผลรองมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ CIMBT ในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมาจากสภาวะของการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของ CIMBT สามารถปรับเข้าใกล้กับอันดับเครดิตของ CIMB มากขึ้น กลยุทธ์การดำเนินนโยบายธุรกิจของ CIMB ซึ่งเน้นที่จะขยายการดำเนินงานและเครือข่ายธุรกิจให้มากขึ้นในภูมิภาคอาเซียนซึ่งได้รวมถึงแผนการเติบโตของส่วนแบ่งกำไรและเพิ่มสัดส่วนการดำเนินธุรกิจของ CIMBT ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ฟิทช์ต่อระดับการให้การสนับสนุนที่ได้จากธนาคารแม่ อย่างไรก็ตามการดำเนินแผนขยายธุรกิจของ CIMB ดังกล่าวต้องอาศัยเงินทุนและทรัพยากรองค์กรอย่างมากและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะได้รับประโยชน์เต็มที่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ CIMB โดยเห็นได้จากการปรับลดของแนวโน้มเครดิตกลับเป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นบวก เมื่อ 9 พ.ค. 2554 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ CIMB ยังมีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนฟื้นฟูธุรกิจของ CIMBT และมีการดำเนินแผนงานเพื่อลดสัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงการเพิ่มทุนให้แก่ CIMBT ในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของ CIMBT ให้สามารถเติบโตได้ในระยะปานกลางและช่วยป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจได้
CIMBT มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปี 2550-2551 ที่ต้องเผชิญกับการขาดทุนจำนวนมากจากการตัดขาดทุนของเงินลงทุนในตราสารประเภท CDO โดย CIMBT มี ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 0.8% และ 9.8% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 เทียบกับระดับ ROA ที่ 0% และ ROE ที่ 0.1% ณ สิ้นปี 2551 คุณภาพสินทรัพย์ของ CIMBT ปรับตัวดีขึ้นซึ่งเกิดจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารให้กับทางกลุ่ม CIMB ในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งทำให้ CIMBT มีอัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงที่ 2.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 (เทียบกับ 14.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารดีขึ้นมาที่ระดับ 100.5% (เทียบกับ 63.8% ณ สิ้นปี 2552) สถานะทางการเงินของธนาคารยังแข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนจำนวน ประมาณ 3.0 พันล้านบาทในช่วงปลายปี 2553 โดยเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ อัตราส่วนเงินกองทุนรวมเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 8.45% และ 14% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 (จากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 6% และ 12% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2552) CIMBT น่าจะยังคงมีผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2554-55 ซึ่งเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อและรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่สูงขึ้น
อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารที่ ‘2’ สะท้อนถึงสัดส่วนการถือหุ้นเกือบทั้งหมดของผู้ถือหุ้นใหญ่คือ CIMB (93.15%) โดยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการบริหารรวมถึงมีใช้ชื่อของธนาคารแม่ในการดำเนินธุรกิจ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทาง CIMBT จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่เมื่อมีความจำเป็น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ CIMB หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ CIMBT และระยะห่างของอันดับเครดิตระหว่าง CIMBT และ CIMB ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไร คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน อาจส่งให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT ปรับขึ้นได้
อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 2 อันดับจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของ CIMBT ถึงแม้ว่าธนาคารสามารถเลือกที่จะเลื่อนชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ดังกล่าวออกไปได้ในกรณีที่ไม่มีกำไรจากการดำเนินงาน CIMB ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้ CIMBT สามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนได้หากจำเป็น อย่างไรก็ตามในกรณีที่การชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาทำให้ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 0% หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซง จะเป็นกรณีที่บังคับให้ CIMBT เลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยของตราสารที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวออกไป โดยฟิทช์มองว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีค่อนข้างน้อย
CIMBT เดิมชื่อธนาคารไทยธนาคาร (Bank Thai) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2541 จากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการหลายแห่งโดยคำสั่งของรัฐบาล กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน BT หลังการควบรวม โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีสัดส่วนหารถือหุ้นเกือบทั้งหมดในปี 2543 ซึ่งได้มีการขายหุ้นเพื่อลดสัดส่วนลงเหลือ 48.98% ในภายหลัง ในเดือนพฤศจิกายน 2551 CIMB ได้ทำการซื้อหุ้น Bank Thai จาก FIDF และต่อมาได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อย โดยในปัจจุบัน CIMB ถือหุ้นในธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 93.15%
อันดับเครดิตของ CIMBT
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวปรับขึ้นเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’
คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอยู่ที่ ‘D’
คงอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารที่ ‘2’
อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นเป็น ‘AA-(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’
อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ปรับเพิ่มเป็น ‘A(tha)’จาก ‘A-(tha)’