นายพาโชค พงษ์พานิช (Mr.Pacholk Pongpanich) นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ คือ สิ่งมีชีวิตหน่วยเล็ก ๆ ที่เป็นต้นธารของคุณภาพและปริมาณผลผลิตการเกษตร รวมทั้งนำไปสู่อุตสาหกรรมอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนและปศุสัตว์ เมล็ดพันธุ์จึงเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของความมั่นคงทางอาหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ โดยมีเปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงสูง จึงจะสามารถงอกเป็นต้นกล้าและเจริญเติบโตเป็นต้นพืชที่ปกติได้ เปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์มีความสัมพันธ์กับการเสื่อมสภาพของเมล็ดพันธุ์ เมื่อแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์เติบโตจนถึงระยะการสุกแก่ทางสรีรวิทยาจะมีน้ำหนักแห้งสูงที่สุด เมล็ดจะมีความงอกและมีความแข็งแรงสูงที่สุด หลังจากนี้ไป เมล็ดพันธุ์มีแนวโน้มความงอกและความแข็งแรงลดลงตามระยะเวลาและสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ การเสื่อมสภาพจะเป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของเมล็ดพันธุ์ขึ้นอยู่กับ 1.ชนิดของพืช 2.พันธุกรรมของพืช 3.ความชื้นในเมล็ดพันธุ์ซึ่งถ้ามีความชื้นสูงจะเสื่อมสภาพเร็ว 4.อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดขบวนการหายใจและการทำงานของเอนไซม์เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเสื่อมเร็วขึ้น 5.ประวัติการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาที่ดีสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของเมล็ด เพื่อให้คงคุณภาพความงอกนำไปเพาะปลูกต่อได้
นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลทางวิชาการของแต่ละหน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับอายุเมล็ดพันธุ์มาสรุปและประกาศมาตรฐานอายุของเมล็ดพันธุ์พืช 37 ชนิด เพื่อเสริมสร้างคุณภาพมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ช่วยให้เกษตรกรได้รับข้อมูลอายุเมล็ดพันธุ์บนฉลากที่ถูกต้องซึ่งมีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากปัญหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ และส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานของวงการเมล็ดพันธุ์ของไทยและสนองตอบนโยบายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเซีย ด้วย ปัจจุบันมีแบรนด์เมล็ดพันธุ์ในท้องตลาดกว่า 500 แบรนด์ และร้านค้าทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง ทางสมาคมฯ ได้ศึกษาวิจัยและกำหนดอายุเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจรวม 37 ชนิด ภายใต้สภาพแวดล้อมอุณหภูมิของสถานที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ในที่ร่มประมาณ 30 องศาเซลเซียสและมีบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันความชื้นได้
มาตรฐานอายุของเมล็ดพันธุ์พืช 37 ชนิด ครอบคลุมเมล็ดพันธุ์ควบคุมจำนวน 29 ชนิด ที่ทางราชการกำหนดตามพรบ.พันธุ์พืชพ.ศ.2518 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวเมล็ดดำ ถั่วเหลืองข้าวโพดหวาน ฝ้าย ข้าวโพดหวาน คะน้า แตงกวา ถั่วลันเตา ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหัว ผักบุ้งจีน พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอคโคลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่ แตงโม กระเทียมใบ ผักชี ปาล์มน้ำมัน ทานตะวัน และพืชสำคัญทางเศรษฐกิจอีก 8 ชนิด คือ มะระ ฟัก/แฟง มะเขือยาว มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบเขียว ฟักทอง บวบเหลี่ยม และแคนตาลูป ทั้งที่เป็นประเภทเมล็ดพันธุ์ผสมปล่อย หรือ O.P. (Open Pollinated Seed) หมายถึงเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการขยายพันธุ์จากแปลงเพาะปลูกที่ปล่อยให้มีการผสมเกสรในตัวเองหรือการผสมข้ามระหว่างต้นในพันธุ์เดียวกัน และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ และประเภทเมล็ดพันธุ์ลูกผสม หรือ Hybrid ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์แท้ตั้งแต่ 2 สายพันธุ์ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในเชิงการค้า เนื่องจากให้ผลดีกว่า ผลผลิตสูงกว่า พันธุ์ผสมปล่อย ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์พืชผักจะเป็นลูกผสม ไฮบริดเสียส่วนใหญ่ มาตรฐานอายุเมล็ดพันธุ์มีดังนี้
อายุเมล็ดพันธุ์
ลำดับ ชนิดพืช ประเภทพันธุ์ลูกผสม ประเภทพันธุ์ผสมปล่อย
(Hybrid) (O.P.)
ปี เดือน ปี เดือน
1 ข้าวเปลือกเจ้า 2 2
2 ข้าวฟ่าง 18
3 ข้าวโพด 18
4 ข้าวโพดข้าวเหนียว 1 1
5 ข้าวโพดฝักอ่อน 18
6 ถั่วเขียว 1
7 ถั่วเขียวเมล็ดดำ 1
8 ถั่วเหลือง 6
9 ข้าวโพดหวาน 6-8 9
10 คะน้า 2 1
11 แตงกวา 2 1
12 ถั่วลันเตา 6
ลำดับ ชนิดพืช อายุเมล็ดพันธุ์โดยเฉลี่ย
ประเภทพันธุ์ลูกผสม ประเภทพันธุ์ผสมปล่อย
(Hybrid) (O.P.)
ปี เดือน ปี เดือน
13 ผักกาดขาว 2 1
14 ผักกาดเขียว 2 1
15 ผักกาดหัว 2 1
16 ผักบุ้งจีน 1
17 พริก 2 1
18 พริกหวาน 18 1
19 มะเขือเทศ 2 1
20 ถั่วฝักยาว 2
21 กะหล่ำปลี 2 1
22 กะหล่ำดอก 2 1
23 บรอคโคลี 2 1
24 ผักกาดกวางตุ้ง 2 1
25 ผักกาดหอม 1
26 แตงโม 2 1
27 กระเทียมใบ 6
28 ผักชี 1
29 ทานตะวัน 1
30 มะระ 18 1
31 ฟัก/แฟง 2 1
32 มะเขือยาว 2 1
33 มะเขือเปราะ 2 1
34 กระเจี๊ยบเขียว 2 1
35 ฟักทอง 2 1
36 บวบเหลี่ยม 2 1
37 แคนตาลูบ 2 1
สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) ยังได้จัดโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้บริษัทผู้จำหน่ายและร้านค้าเมล็ดพันธุ์ ได้ยึดใช้เป็นแนวทางเดียวกัน ได้แก่ ความรู้การดูแลจัดเก็บเมล็ดพันธุ์สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของเมล็ดเพื่อให้คงคุณภาพและนำไปเพาะปลูกต่อได้ โดยควรอยู่ในที่ร่ม อุณหภูมิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต้องมีความเหมาะสมที่ 30 องศาเซลเซียส รวมทั้งเสริมความรู้เกี่ยวกับชนิดพืช พันธุกรรมพืช เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
สำหรับการค้าเมล็ดพันธุ์กับต่างประเทศ ใน 2 เดือนแรกของปี 2554 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว 3,976 ตัน คิดเป็นมูลค่า 516 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดถึง 3,204 ตัน มูลค่า 208 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์นั้น ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มการค้าเมล็ดพันธุ์ในครึ่งปีหลัง 2554 นี้ คาดว่าการค้าภายในประเทศ ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มที่ดีในเรื่องของการเพาะปลูก จากราคาที่จูงใจ และพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังบางส่วนมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนกลับมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ สำหรับการค้ากับต่างประเทศนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปีที่ผ่านมา และดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยเป็นแหล่งกระจายเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนทิศทางของราคาเมล็ดพันธุ์โดยรวม นั้น ราคาเมล็ดพันธุ์ของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นในเรื่องของต้นทุนการผลิตและการแปรสภาพเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่ มีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตที่สูงขึ้นเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกร มีรายได้ที่คุ้มค่าจากการลงทุนอันเนื่องมาจากได้รับผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น ในด้านสภาวะอากาศแปรปรวน (Climate Change)ส่งผลกระทบต่อการเกษตรทุกประเทศ เกษตรกรไทยต้องติดตามรายงานของภูมิอากาศบ่อยขึ้นเพื่อเตรียมการและลดความเสี่ยง ปลูกพืชที่เหมาะกับพื้นที่
สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 02 911-3282, Fax 02-911-3208
มือถือ ประภาพรรณ