นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องมีการติดตามเฝ้ารระวังกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะยุงลายตัวการสำคัญที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกที่ปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการในการฟักตัวและเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี วิธีที่ดีที่สุดในการติดตามควบคุมป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดขณะนี้ก็คือการกำจัดลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
ยิ่งในปี 2554 นี้ มีการคาดการว่าสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกอาจจะสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน การมีฝนตกในช่วงหน้าร้อนจะทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มมากขึ้น
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ และในฐานะหน่วยงานซึ่งมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือ "มอสแท็บ" ขึ้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำยุงได้หลายชนิด เช่น ยุงลาย ยุงรำคาญ ยุงก้นปล่อง รวมทั้งริ้นดำ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ได้ใช้เวลาในการศึกษาวิจัยและทดลองถึงประสิทธิภาพมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยแล้วว่าไม่เป็นอันตรายทั้งในคนและสัตว์ทดลอง จึงได้มีการสนับสนุนให้นำผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือ "มอสแท็บ" ไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ และทำการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านทางสาธารณสุขจังหวัด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์มอสแท็บยังได้รับความสนใจจากภาคเอกชน จนกระทั่งได้มีการลงนามความร่วมมือในสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางวิชาการในการผลิตมอสแท็บ ให้กับหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อให้สามารถนำไปผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ในการนำผลิตภัณฑ์มอสแท็บไปใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำให้การแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกทำได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับการคิดค้นพัฒนาที่กว่าจะออกมาเป็นมอสแท็บผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพนั้น ดร.เลาจนา ดร.เลาจนา เชาวนาดิศัย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านกีฏวิทยา) ผู้คิดค้นและพัฒนามอสแท็บ อธิบายว่า “มอสแท็บ” ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus thuringiensis subsp. Israelensis ที่พบอยู่ในดิน โดยปัจจุบันเป็นดินที่ได้จาก จ.แพร่ ซึ่งจะพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อแยกเชื้อแบคทีเรียออกจากดินได้ก็จะนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวน ด้วยการให้อาหารซึ่งจะมีทั้งอาหารแข็งและอาหารเหลว โดยจะใช้เวลาการในเพาะเลี้ยงอยู่ประมาณ 2 - 3 วัน จากนั้นนำไปเข้าเครื่องแยกให้เหลือแต่เซลล์ที่มีลักษณะเปียกๆ แล้วจึงใช้เครื่องทำแห้งด้วยความเย็นทำให้เป็นผง จากนั้นนำไปทดสอบหาค่าความแรงในการกำจัดลูกน้ำยุง เมื่อได้ค่าตามที่กำหนดแล้วจึงนำไปผสมกับสารประกอบตัวอื่นๆ ตามแต่ละสูตร แล้วนำไปเข้ากระบวนการตอกเม็ดด้วยเครื่องต่อไป
ดร.เลาจนา อธิบายต่อว่า ผลิตภัณฑ์ "มอสแท็บ" ได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปเม็ดเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยการใช้มอสแท็บ 1 เม็ดต่อน้ำ 1 ตุ่ม/โอ่งเล็ก(200 ลิตร) หรือมอสแท็บ 5 เม็ดต่อน้ำ 1 โอ่งใหญ่ (1,000 ลิตร) ใช้เดือนละ 1 ครั้ง หรือเมื่อตรวจพบลูกน้ำ ซึ่งมอสแท็บจะสามารถควบคุมลูกน้ำยุงลายได้นานถึง 3-4 สัปดาห์ ในสภาพน้ำใช้ทั่วไป ส่วนโอ่งเก็บน้ำจะควบคุมลูกน้ำยุงลายได้นานถึง 4 เดือน
“มอสแท็ป” จะใช้หลักการทำงานโดยอาศัยการสร้างโปรตีนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไปออกฤทธิ์กับลูกน้ำยุงลาย ด้วยการทำลายเซลล์สร้างน้ำย่อยและเซลล์ผนังลำไส้ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้การย่อยอาหารของลูกน้ำยุงลายผิดปกติ ลูกน้ำยุงลายจะตายเพราะท้องเสียและอดอาหาร และแบคทีเรียนี้อาจเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในระบบเลือดของลูกน้ำยุงลาย ทำให้เลือดเป็นพิษและตายในที่สุด
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 029510000 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์