นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน)(KBS) เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ลงนามแต่งตั้งสถาบันการเงินจำนวน 7 แห่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นสามัญทั้งสิ้นจำนวน 176 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 150 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำนวน 26 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 5.2 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท โดยตั้งราคาขายอยู่ที่หุ้นละ 9.1บาท
“สถาบันการเงินทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) โดยจะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่19, 20 และ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และ จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 27 พฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้จำนวน 1,365 บาท บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า จำนวน 500ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตน้ำตาลและ ลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์จักรกลเกษตร พัฒนา พันธุ์อ้อย จำนวน 400.ล้านบาทและที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทมีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทจักรกลเกษตร ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และยานยนต์ต่างๆให้แก่ชาวไร่อ้อย ซึ่งดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน และมีอีกสองบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการในอนาคต คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยเพิ่มเติม และบริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ รองรับโครงการผลิตเอธานอลจากกากน้ำตาล” นายถกลกล่าว
นายถกลกล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2553 บริษัท มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในด้านการผลิตได้มีการลงทุนเพิ่มเพิ่มกำลังการหีบอ้อยจาก 21,000 ตันอ้อยต่อวันเป็น 23,000 ตันอ้อยต่อวัน นอกจากนี้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตไฟฟ้าทำให้สามารถขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 14.3 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปีบัญชี 2552 เป็น 22.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในปีบัญชี 2553 ในด้านการขายและการตลาด บริษัทฯ พยายามขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่มีอัตรากำไรสูง เช่น น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ให้มากยิ่งขึ้น และพยายามขายผ่านช่องทางที่มีอัตรากำไรสูง เช่น กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและลูกค้าโมเดิร์นเทรด ให้มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน
นายถกลกล่าวต่อไปว่าสำหรับผลประกอบการของบริษัทในระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2553 — เดือนมีนาคม 2554) บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที 2,116.7 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 266.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับ37.4%
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัทน้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS ) เปิดเผยว่าหุ้น KBS ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมียอด Book Build เข้ามาสูงกว่า 3 เท่าสำหรับสัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการ KBS เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง อีกทั้งภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำตาลมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาสูง ขณะที่สถิติของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลชี้ให้เห็นว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในประเทศไทยทำสถิติสูงที่สุดในปีนี้ ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้ล้วนแต่ส่งเสริมให้บริษัทรักษาระดับการเติบโตของรายได้และผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง กอปรกับนโยบายจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ถือเป็นปัจจัยดึงดูดการเข้ามาลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย โดยสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนสถาบันอยู่ที่ร้อยละ 35 และรายย่อยอยู่ที่ ร้อยละ 65
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2,975.7 ล้านบาทในปีบัญชี 2551 เป็น 3,808.8 ล้านบาทในปีบัญชี 2552 และ 4,774.2 ล้านบาทในปีบัญชี2553 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถัวเฉลี่ยต่อปี (CAGR) เท่ากับร้อยละ 26.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขายของบริษัทฯ ทั้งในเรื่องของประเภทผลิตภัณฑ์ และช่องทางจำหน่าย และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัทฯ และจากการที่บริษัทฯ ได้ทำการพัฒนาและปรับปรุงทั้งในส่วนของกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและในส่วนของกระบวนการผลิต ในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนชาวไร่จาก 3,845รายในปีการผลิต 2550/51 เป็น 4,097 รายในปีการผลิต 2552/53 ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการจัดหาอ้อย และลดต้นทุนค่าขนส่งอ้อยทางไกล บริษัทฯ ทำการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ตลอดจนปรับปรุงเครื่องจักรทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทฯ มีต้นทุนการผลิตต่ำลง และเพิ่มรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้ กฟภ. มากยิ่งขึ้นการเพิ่มขึ้นของรายได้และการปรับปรุงประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยกำไรสุทธิสำหรับปีบัญชี 2551 2552 และ 2553 เท่ากับ 59.8 ล้านบาท 145.7 ล้านบาท และ 167.9 ล้านบาท ตามลำดับ
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ อินทิรา ใจอ่อนน้อม
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร. 0-2718-1886