นางสาวเฉลา กาญจนา บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่าตามที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้จัดเวทีสัมมนาโต๊ะกลมชื่อ “กรุงเทพธุรกิจ Forum” อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (18 พฤษภาคม) นับเป็นครั้งที่ 6 นั้น แม้จะเป็นวงสัมมนาภายในองค์กร แต่ถือว่าสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างบรรลุเป้าหมาย จากการตอบรับร่วมเป็นวิทยากรที่ล้วนเป็นผู้แทนพรรคการเมืองหลักระดับบริหาร เข้ามาร่วมนำเสนอแนวนโยบาย ขณะเดียวกัน ยังมีภาคีที่เป็นตัวกลางอย่างนักวิชาการ นักธุรกิจ หลากหลายแขนงร่วมตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อบทบาท ความเป็นไปได้ของนโยบายทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือตัวแทนจากประชาชนคนอ่านกรุงเทพธุรกิจ
“กรุงเทพธุรกิจมีความตั้งใจให้เวทีนี้เป็นเวทีที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการระดมมุมมองที่แตกต่าง เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ ดังนั้นจึงเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนทั่วไปผ่านอีเมล์และเฟซบุ๊ค บางท่านก็ทวีตส่งคำถามเข้ามาเป็นประเด็นเด่นๆ คำถามเหล่านี้ถูกนำมาประกอบการตั้งคำถามกับนักการเมือง เพราะเรามองว่าเสียงสะท้อนที่มีพลังจากกลุ่มประชาชนเหล่านี้มีคุณค่าและแฝงด้วยแง่มุมดีๆที่ผู้มีหน้าที่กำหนดนโนยายควรรับรู้”
ทั้งนี้ ตัวแทนจากพรรคการเมือง นักวิชาการ ของเวทีนี้ประกอบด้วย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เผยถึงแนวนโยบายสาธารณะของพรรค พร้อมด้วยนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่าง นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสุวิทย์ รัตนจินดา สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ของพรรคว่า “พรรคมีความตั้งใจให้โครงการที่นำเสนอออกไปนั้นจะต้องไม่เป็นภาระด้านการเงินมากเกินไป และสามารถทำได้จริง ทำได้ทันที โดยพิจารณาจากจุดแข็งของประเทศเป็นหลัก คือ 1)การท่องเที่ยว มีการพัฒนาให้เป็นมนต์เสน่ห์แห่งเอเชีย และทำรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย เพื่อขนส่งคน และใช้ความเร็ว 200 กม.ต่อชั่วโมง แต่สำหรับการขนส่งสินค้าจะวิ่งได้ถึง 120 กม.ต่อชั่วโมง 2)การสร้างศูนย์การพัฒนาภาคตะวันออกที่แหลมฉบัง 3) การย้ายท่าเรือคลองเตย และพัฒนาเป็น “มหาอุทยานริมน้ำเจ้าพระยา” โดยท้ายสุดต้องเป็นไปตาม “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่มีแต่อุตสาหกรรมเต็มเมือง”
ทางด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ฉายให้เห็นภาพอนาคตของประเทศไทยว่า “ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำอาเซียน” ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นรองรับ สร้างจุดโตของอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายคิดสร้างเซ้าเทิร์นซีบอร์ดเพื่อดึงการลงทุนจากญี่ปุ่น ดังนั้น การจูงใจด้วยภาษีจึงต้องมี และการเพิ่มค่าแรงก็จะเป็นตัวกำหนดอุตสาหกรรมที่จะเข้ามา สร้างเมืองใหม่รองรับการเป็นศูนย์กลาง ส่วนด้านการพัฒนาคนเราก็ต้องทำให้เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนา ซึ่งเรื่องของไอทีจะเป็นเรื่องแรกที่พรรคจะพัฒนา โดยทุกนโยบายจะเชื่อมโยงกัน พร้อมฝากทิ้งท้ายว่า “ถ้าอยากได้สวนสวยแต่ไม่มีเงินกินก็เลือกอภิสิทธิ์”
สำหรับแนวคำถามจากประชาชนในเวทีเมกะโปรเจคต์มีหลากหลาย ได้แก่ ระบบรถไฟทั่วประเทศจะดำเนินการอย่างไร ให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจริงจัง ,การสร้างค่านิยมใหม่ ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ลดภาษีอีโค่คาร์ ,การปรับปรุงแหล่งน้ำสะอาด เพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น เก็บน้ำดีได้จริง ,ขอพื้นที่สาธารณะ ทางจักรยาน ถนนสำหรับคนเดิน ,แผนพัฒนาจังหวัดฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย คนเสียภาษีมากที่สุดไม่ใช่คนกรุงเทพ”ฯลฯ เป็นต้น
นางสาวเฉลา ยังกล่าวต่อไปว่า เร็วๆ นี้เวทีแสดงทัศนะต่อนโยบายพรรคการเมืองเช่นนี้จะจัดขึ้นอีก 2 ครั้งว่าด้วยเรื่อง “นโยบายพรรคการเมืองกับปัญหาคอรัปชัน” ในวันพุธที่ 25 พฤษภาคม และปิดท้ายด้วย “นโยบายพรรคการเมืองกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย และขีดแข่งขันของธุรกิจไทย” วันอังคารที่ 31 พฤษภาคมนี้
"กรุงเทพธุรกิจหวังจะเห็นการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยมองเห็นทิศทางนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนรวม และพร้อมรับกับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กรุงเทพธุรกิจมีเดีย จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
นิธิกานต์ ภู่ศิริ (กบ) ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท กรุงเทพธุรกิจมีเดีย จำกัด
โทร.0 2338 3383-4
E-mail : [email protected]