โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“เตอ คี เซ่อ ลู่ย แย่ คือ เน๊ย ค้อ ควี เต่อชี”
คำที่สะกดแปลกตา ออกเสียงแล้วฟังแปลกหูเหล่านี้คือภาษากะเหรี่ยงที่ใช้ในการนับจำนวน ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ”
ไม่เพียงแต่คนที่พูดจาด้วยภาษาไทยเท่านั้นที่รู้สึกว่าคำเหล่านี้แปลกหูแปลกตา แม้แต่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงเองก็กำลังจะหลงลืมถ้อยคำเหล่านี้ไป อิทธิพลของวัฒนธรรมเมืองที่ไหลบ่าย้อนขึ้นสู่ดอยสูงกำลังทำให้ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงเริ่มละทิ้งรากเหง้า วัฒนธรรม...ละทิ้งความเป็นตัวเอง
“...พอเข้าเมืองก็ไม่กล้าบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นคนกะเหรี่ยง หลงลืมวัฒนธรรมตัวเอง ไม่กล้าพูดภาษาของตัวเอง อายที่จะบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นใคร”
“พวกเราอยากให้ทุกคนภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ” เป็นความคิดที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดของพัชราภรณ์ -นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแนวคิดนี้เองทำให้เกิดโครงการ “อยู่อย่างพอเพียง คืนสู่วิถีชีวิตบ้านดอย ร้อยดวงใจถวายพ่อ”
โครงการ “อยู่อย่างพอเพียง คืนสู่วิถีชีวิตบ้านดอย ร้อยดวงใจถวายพ่อ” จึงเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้กับเยาวชน คนในชุมชน ให้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ภาษา วิถีชีวิตเรียบง่าย อันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมาช้านานให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้การจัดทำโครงการขึ้นในปีดังกล่าว ยังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษาอีกด้วย
“เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน”
ตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือเปลวเทียนส่องทาง เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เหล่าเยาวชนแกนนำของโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์มองเห็นว่า หนทางเดียวที่จะช่วยฉุดรั้งสำนึกรักท้องถิ่นของชนเผ่ากะเหรี่ยงไว้ได้ คือการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ให้ทั้งเยาวชนและคนในหมู่บ้านได้เห็นเป็นตัวอย่าง
“ทำเอง ใช้เอง ปลูกเอง กินเอง เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง” จึงกลายมาเป็นแนวทางหลักของการจัดทำโครงการนี้และแตกหน่อต่อผลออกมาเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ถึง 5 กลุ่มกิจกรรม คือ
- กิจกรรมทอผ้า เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองด้วยตนเอง และผ้านั้นจะถูกนำมาตัดเย็บเป็นชุดประจำเผ่ากะเหรี่ยงเพื่อสวมใส่เป็นประจำทุกวันศุกร์ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ตระหนักถึงคุณค่าของผ้าทอที่สวมใส่จนเกิดภาคภูมิใจ แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ เพราะผ้าทอมือเหล่านั้นยังสามารถนำมาจำหน่ายเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย
- กิจกรรมประกวดทำอาหารพื้นบ้านชาวกะเหรี่ยง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมการกิน รณรงค์ให้เยาวชนชาวกะเหรี่ยงหันกลับมารับประทานอาหารพื้นถิ่น ซึ่งไม่เพียงหาวัตถุดิบง่าย ปรุงสะดวก แต่ยังสดใหม่ ให้คุณค่าทางอาหารมากกว่าอาหารสำเร็จรูปหรือขนมกรุบกรอบ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวเผ่ากะเหรี่ยงรุ่นใหม่
- กิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีของชนเผ่า เพื่ออนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชนเผ่ากะเหรี่ยง เช่นการเลี้ยงผีไร่ผีนา ประเพณีแต่งงาน โดยการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีต่างๆ ในด้านของการเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ การสืบสานวัฒนธรรมด้วยความเข้าใจและศรัทธา แทนการหลงเชื่ออย่างงมงายสู่ชุมชน ด้วยวิธีแสดงละครจำลองวิถีชีวิต และเผยแพร่ผ่านเสียงตามสาย
- กิจกรรมวิถีแห่งความพอเพียง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งความพอเพียง โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เยาวชนและคนในท้องถิ่นเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามแนวทางนี้ จากนั้นจึงจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อฝึกฝนให้เป็นกลุ่ม ‘คนต้นแบบ’ ในการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ทั้งเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชให้เชื่อมโยงเป็นวงจรที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน พึ่งพากันตามธรรมชาติ และสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้วิถีชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก อาทิ ปลูกข้าว ทำนา เกี่ยวข้าว จนถึงการตำข้าว
- กิจกรรมอนุรักษ์ภาษาชนเผ่ากะเหรี่ยง เพื่ออนุรักษ์ภาษาของชนเผ่าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนอันน่าภาค ภูมิใจนี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการจัดการเรียนการสอนภาษากะเหรี่ยงในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม โดยจะมีวิทยากรในท้องถิ่นเป็นผู้สอน และได้จัดประกวดงานฝีมือสร้างสรรค์ซึ่งกำหนดกติกาว่า ทุกชิ้นงานจะต้องมีภาษากะเหรี่ยงประกอบอยู่ด้วย
เยาวชนแกนนำของโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ ไม่เพียงช่วยกันคิดสร้างสรรค์โครงการที่มีแนวคิดดีงาม มีกิจกรรมที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยองค์ความรู้ แต่พวกเขายังทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งความรู้ การดำเนินการและผลงานของโครงการออกไป ด้วยการแยกย้ายกันออกไปหาเครือข่าย แล้วชักชวนเยาวชนคนอื่นๆ รวมถึงคนในชุมชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่พวกเขาเลือกใช้ในการชักจูงใจผู้คน คือการบอกต่อแบบปากต่อปาก
“เริ่มจากคนกลุ่มหนึ่งก่อน แล้วค่อยๆ ขยายผลไปสู่เพื่อนนักเรียน พอเขาได้เรียนรู้ ทำเป็น เขาก็จะกลับไปบอกพ่อแม่ แนวคิดและความรู้พวกนี้ก็จะค่อยๆ ขยายไปสู่ชุมชน ซึ่งตอนนี้ก็ขยายผลไปถึงโรงเรียนในชุมชนข้างๆ แล้วค่ะ” ศศิประภาเล่าด้วยรอยยิ้มที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ
“แรงบันดาลใจสูงสุดที่ทำให้พวกเรามีวันนี้ได้คือพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เล็กเราได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อคนไทยทุกคน ทรงเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวม ทำให้พวกเราคิดกันว่า ถ้าเราได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยให้คนในชุมชนของเรา ในครอบครัวของเรามีความสุขได้ เราก็จะทำ”
“พ่อแม่ก็เป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจสำคัญที่ทำให้เรามุมานะที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จเพื่อให้ท่านภูมิใจ รวมทั้งพี่ๆ ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการไว้ก่อน พี่ๆ ไม่เคยทอดทิ้ง ถึงเรียนจบไปแล้วก็จะกลับมาช่วยดูแลตลอด พวกเรายึดการทำงานของพี่ๆ เป็นแบบอย่าง ตอนเป็นน้อง ได้เห็นพี่ทำงาน รู้สึกว่าพี่เก่ง พอมาทำเองจริงๆ เหนื่อย แต่พวกเราไม่ท้อ เพราะเรามีแรงบันดาลใจ มีกำลังใจ มีต้นแบบ เมื่อเลือกมาทำแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ”
‘สร้างบ้านให้เป็นสวรรค์ทางจิตใจด้วยการทำความสุขให้เกิดขึ้น สร้างด้วยรักให้ด้วยใจ
ร่วมกันสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามให้เกิดกับท้องถิ่น ด้วยการสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและมั่นคง’
คือความฝันและเจตนารมณ์ที่เหล่าเยาวชนแห่งบ้านห้วยสิงห์มุ่งมั่นจะบากบั่นไปให้ถึง ไม่ว่าจะเหนื่อยยากสักเพียงใด และด้วยแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยม พวกเขาเชื่อว่า...ความฝันนี้จะเป็นจริงได้ในไม่ช้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026882300 thanakorn79