นางจิราภรณ์ เกษรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผยในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์กำลังคนของประเทศไทย อันเนื่องมาจากผลการประชุมวิชาการนานาชาติในกรอบทุนมนุษย์และผลิตภาพแรงงาน (International Conference on Mega-Trend in Human Capital and Labour Productivity towards Global Integration)ว่า จากที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ร่วมมือกับองค์การภาคีต่างๆทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 70 องค์กร จัดประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าวไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำข้อสรุป ด้วยการระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคการศึกษา องค์การนายจ้าง ลูกจ้าง สมาคมวิชาชีพ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อจัดทำเป็นยุทธศาสตร์และRoadmap เสนอคณะรัฐมนตรีผ่านทางคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ(กพร.ปช.) โดยมุ่งเน้นที่การจัดลำดับแผนงาน/โครงการ ตามภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบการเตรียมตัวเรื่องกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลง และวิวัฒนาการของประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องระบบการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานและการจัดทำระบบรับรองความสามารถ หรือตามมาตรฐานความสามารถ โดยเลือกประเทศที่มีความก้าวหน้าและปรับตัวได้รวดเร็วเป็นต้นแบบเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และการจัดทำยุทธศาตร์การพัฒนากำลังคน ให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศและรองรับประชาคมอาเซียนต่อไป
ด้านรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า (ร่าง)ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน(ฝีมือแรงงาน) พ.ศ. 2555-2559 มีเป้าหมายในด้านการศึกษา ด้านคุณภาพและผลิตภาพแรงงาน ด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานและมาตรฐานวิชาชีพ ด้านบริหารจัดการแรงงานที่ดี เน้นเสริมสร้างการศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตตามกระแสโลกาภิวัตน์(ภายใต้เศรษฐกิจความรู้และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์) สร้างโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้เข้มแข็ง มีสมรรถนะสูงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล พัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานผ่านกลไกของกพร.ปช. หาแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ หาโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ AEC (ASEAN Economic Community:ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของตลาดแรงงานไทย ซึ่งหากยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้รับการอนุมัติจะทำให้ประเทศไทยมีแรงงานที่มีความพร้อมทั้งด้านทักษะ ฝีมือ และการศึกษา ที่รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาซียนได้เป็นอย่างดี