มูลนิธิสยามกัมมาจล สานพลังเครือข่ายโรงเรียนพอเพียง ตั้งเป้า 84 ศูนย์เรียนรู้ฯเทิดพระเกียรติฯ 84 พรรษา

อังคาร ๓๑ พฤษภาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๑๗
มูลนิธิสยามกัมมาจลเดินหน้า สานพลังเครือข่ายโรงเรียนพอเพียง ตั้งเป้าหมาย 84 ศูนย์การเรียนรู้ฯ เทิดพระเกียรติฯ 84 พรรษาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเผยแพร่สู่การเป็น “หลักคิด-หลักการดำเนินชีวิต” ปลูกฝังแก่ “เยาวชน” ทั่วประเทศ

ระหว่างวันที่ 27 -28 พฤษภาคม 2554 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงาน ตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง”ครั้งที่ 3 ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ขึ้น โดยมีผู้บริหาร ครู และนักเรียนแกนนำกว่า 600 คนจากสถานศึกษาพอเพียงในเครือข่ายจำนวน145 แห่งเข้าร่วมงาน วัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงรับทราบบาทบาท เกิดแรงบันดาลใจ และร่วมกันวางแผนพัฒนาตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ไปพร้อมๆ กับโรงเรียนเครือข่ายในภูมิภาค ให้ได้ 84 ศูนย์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษาในปีนี้

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดงานตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ 3” ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งสำหรับโรงเรียนที่ได้รับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาจำนวน 13 แห่ง ตลอดจนเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวที่จะได้รับประโยชน์จากการที่โรงเรียนเป็นศูนย์ฯ ข้างต้น ขณะเดียวกัน โรงเรียนเหล่านี้ยังจะถือเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่เพื่อนโรงเรียนอื่นๆ สู่ชุมชน ตลอดจนสู่สังคมโดยทั่วไปของประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2542 เมื่อครั้งสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวังได้ส่งคำนิยามของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำกระแสพระราชดำรัสพระราชทานพระบรมราชานุญาตินำคำนิยามดังกล่าวไปเผยแพร่สู่สังคมในวงกว้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาสู่การใช้ประโยชน์และเผยแพร่ในเวลาต่อมา โดยภาคการศึกษาถือเป็นภาคส่วนแรกๆ ที่น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การเผยแพร่ จากนั้น 5 ปีให้หลัง คือในปี 2547 ได้มีการประกวดความเรียง “ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก” พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีผู้ส่งผลงานรวมกว่า 1,500 ชิ้น ในจำนวนนี้พบว่ามีความเข้าใจที่หลากหลาย และมีอยู่ไม่น้อยที่ยังคงเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อนอยู่มาก

การประกวดความเรียงฯ ดังกล่าวทำให้เกิดเป็นข้อค้นพบว่า การน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปสู่การใช้ประโยชน์กับส่วนรวมเป็นกระบวนการที่ต้องทำ ค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่องกันไป โดยนำสิ่งที่เป็นคุณค่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาเผยแพร่สู่การรับรู้ร่วมกัน พร้อมกับสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมจึงไม่ใช่กระบวนการที่ทำครั้งเดียวหรือวันเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องกันไป

“เมื่อปี พ.ศ. 2547 เรามีโรงเรียนที่สมัครและได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนจำนวน 9 แห่งใน 9 อนุภูมิภาคจากโรงเรียนทั้งหมดประมาณ 40,000 แห่งทั่วประเทศ การขับเคลื่อนสู่โรงเรียนอย่างครอบคลุมจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องยากและต้องใช้ความเพียรมาก อาจเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว จาก 9 แห่งนั้น ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว 1,261 แห่ง และกระทรวงศึกษาธิการได้วางเป้าหมายให้ภายในปีนี้ มีโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง 9,999 แห่งทั่วประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ในเวลาอันใกล้นี้ และสามารถทำได้อย่างมีความยั่งยืนต่อไป โดยศูนย์เหล่านี้จะเป็นแหล่งศึกษาดูงานและปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงให้แก่นักเรียนได้” ดร.จิรายุ กล่าวและเสริมว่า

ขณะเดียวกัน มูลนิธิสยามกัมมาจลยังจะร่วมขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 13 แห่งในปัจจุบัน เป็น 84 แห่งภายในปีนี้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายข้างต้นด้วย

ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายพร้อมร่วมแรงร่วมใจในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา และให้โรงเรียนต่างๆ น้อมนำหลักคิดนี้ไปสู่การบริหารจัดการ และการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน

โดยคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการยังมีนโยบายมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางและเป็นส่วนหนึ่งของจุดเน้นในการปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวะศึกษา การอุดมศึกษา ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษานอกระบบ โดย สพฐ.พร้อมแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการน้อมนำหลักคิดดังกล่าวสู่การจัดการระบบการศึกษาด้วย

ความร่วมมือที่ผ่านมา อาทิ ความร่วมมือร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาขึ้น โดยมีเป้าหมายปลายทางเพื่อให้สถานศึกษาสามารถสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิด หลักความรู้ และเป็นหลักปฏิบัติได้อย่างน้อย 4 ด้าน นั่นคือ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และด้านการพัฒนาบุคลากรให้สามารถน้อมนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และเป็นแหล่งการศึกษาดูงานของสถานศึกษาทั่วไป รวมทั้งของชุมชนท้องถิ่นที่มีความสนใจที่จะดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ โดยวันนี้ได้เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้วคือ ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นแล้ว 13 แห่งใน 4 ภูมิภาค ซึ่งได้รับการคัดเลือกและมีพิธีมอบเกียรติบัตรภายในงานนี้

“สพฐ.เชื่อมั่นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์จะเป็นหลักการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน สพฐ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งและจะน้อมนำสู่หลักสูตรแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทุกสถานศึกษาจะต้องนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อสอดรับจุดเน้นของยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียงต่อไป” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าว

ด้าน ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ ประธานคณะกรรมการประเมินศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา กล่าวถึงข้อสังเกตจากการติดตามการดำเนินการของศูนย์การเรียนรู้ฯ จากทุกภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีจุดร่วมกันคือคณะผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีขวัญกำลังใจและมีความตั้งใจที่จะศึกษา ทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาตนเองสู่แนวทางของความพอเพียง เกิดเป็นความสุขของคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน ตลอดจนชุมชนรอบโรงเรียน ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้ การขับเคลื่อนของโรงเรียนต่างๆ จึงเป็นการทำงานที่มีความต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน มีการพัฒนาตนเองอย่างน่าชื่นชม ครูเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองในทางที่ดีขึ้น ส่งผลถึงวิธีคิด การเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น

“ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลง เช่น ครูบางคนบอกว่า แต่ก่อนของบางอย่างก็คือขยะ เป็นของไร้ค่าในสายตาของฉัน แต่เมื่อน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว มองขยะและสิ่งของทุกอย่างว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า สามารถนำมาเป็นสื่อการเรียนการสอนได้ ครูภาษาอังกฤษท่านหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนจะสอนหนังสือบนเป้าหมายของตนเองที่ตั้งไว้ ไม่ได้คิดว่า นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐาน มีความสามารถแค่ไหนอย่างไร จึงไม่มีความพอประมาณในการสอน แต่เมื่อรู้จักความพอประมาณในการจัดการเรียนรู้แล้ว พบว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น ห้องเรียนมีชีวิต ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น

ครูศิลปะบอกว่า เด็กนักเรียนศิลปะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ศิลปะ ตอนนี้ให้นักเรียนมองหาสิ่งใกล้ตัวมาใช้ทำงานศิลปะตามกำลังของตนเอง เพราะแก่นของศิลปะคือจินตนาการ ได้ฝึกทักษะ และการเห็นความงามของสิ่งรอบตัว ครูหลายคนบอกว่าชีวิตดีขึ้น หนี้สินลดลง บางคนมาบอกเป็นการส่วนตัวว่าเลิกซื้อสลากกินแบ่งแล้ว” ดร.ปรียานุช กล่าว

จากนั้นได้มี พิธีมอบเกียรติบัตร “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” แก่สถานศึกษาพอเพียงแกนนำจำนวน 13 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนแม่พริกวิทยา โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนกัลยาณวัตร โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม โรงเรียนโพนทองวิทยายน โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาลัย โรงเรียนห้วยยอด และมี พิธีมอบเข็มแก่ผู้บริหารและครูในโครงการเรื่องเล่า “บทเรียนความสำเร็จในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้” ครั้งที่ 2

ทั้งนี้ ภายในงานตลาดนัดความรู้ “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ 3” ยังประกอบด้วยนิทรรศการของสถานศึกษาที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล, วงเสวนา “ครุศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”, วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ตัวอย่างกรณีศึกษา ออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กเข้าใจ เข้าถึง และนำหลักคิดพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและการทำงาน”, การบรรยาย “การใช้โครงงานเพื่อสร้างพลังการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ”, วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “วางแผนการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนและขับเคลื่อนเครือข่าย”, การบรรยายในหัวข้อ “การจัดการความรู้สำหรับศตวรรษที่ 21” และการสาธิตการเล่นเกม “The Leader : ผู้นำพอเพียง” เกมเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๐๐ โรงพยาบาลลานนา จัดอบรม ชาวลานนาร่วมใจ ต้านโรคภัยจากภาวะอ้วนลงพุง
๑๑:๑๕ ค้นหา รักแท้ ในมุมมองใหม่กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในกิจกรรม ธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
๑๑:๑๐ เชฟรอน (ไทย) รุกเจาะตลาดน้ำมันเครื่อง เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
๑๑:๐๗ RML เปิดศักราชปี'68 มาแรง! หุ้นกู้มีหลักประกันขายหมดเกลี้ยง 100%
๑๑:๐๐ สมาคมดินโลก ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการจัดการดินเพื่อเกษตรยั่งยืน
๑๐:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค ฉลองเทศกาลตรุษจีนสุดยิ่งใหญ่ CHINESE NEW YEAR 2025
๑๐:๐๐ ซัมซุง จัดงาน Live Human Display การแสดงสะท้อนการใช้ชีวิตสุดชิล เมื่อมี AI จาก Galaxy Tab S10 Series เป็นตัวช่วยในการทำงาน
๐๙:๐๐ รำไพพรรณีจับมือโรงเรียนในจันทบุรี พัฒนาทักษะภาษา สู่ความเป็นเลิศ
๐๙:๐๐ DITP แถลงข่าวตอกย้ำความสำเร็จ E-Academy ภายใต้แนวคิด Beyond Boundaries Transform Knowledge into Impact
๐๙:๐๐ เปิดให้จองแล้ว Samsung Galaxy S25 Series ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย