ศ. ซาอิด อิรานดุส อธิการบดีสถาบันเอไอที กล่าวว่าสถาบันเอไอทีได้ทำงานร่วมกับ พันธมิตรทางด้านการศึกษาระดับสูงในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเจ้าบ้านมาโดยตลอด นับตั้งแต่การก่อตั้งสถาบันฯเมื่อ พ.ศ. 2502 สถาบันเอไอทีได้สวมบทบาทเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโดยรวมของประเทศไทยโดยการให้การศึกษาแก่นักศึกษาที่มีความสามารถจากประเทศไทย อีกทั้งจากประเทศในและนอกภูมิภาคเอเชีย ในวิถีทางต่างๆที่สนับสนุนความฝันของประเทศไทยในการสร้างสังคมที่พึ่งพาตนเองและสังคมแห่งการเรียนรู้ สถาบันเอไอทีได้มีบทบาทโดยตรงในการยกระดับการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย จากการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การจัดการ ด้วยมาตรฐานการศึกษาที่ได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของต่างประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในโลกแห่งความเป็นจริง และความสำคัญของความสัมพันธ์กันทางสังคม สถาบันเอไอทีได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อลดช่องว่างที่มีอยู่ของสังคมและเพื่อขยายมุมมองของประชาชนทางด้านวาระแห่งชาติ วาระแห่งภูมิภาคและวาระแห่งโลก
“ความท้าทายในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย เช่น ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่ ตลอดจนสภาวะการขาดแคลนอาหารและน้ำนั้นต้องการการแก้ปัญหาแบบวิศวกรรมเชิงนวัตกรรม อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้มีมากเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวจะสามารถรับมือได้ สถาบันการศึกษาระดับสูงจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาไร้พรมแดนที่เกิดขึ้นร่วมกัน และนี่คือสาเหตุว่าทำไมสถาบันเอไอที ในฐานะสถาบันการศึกษาระหว่างชาติ มุ่งที่จะผนวกความแข็งแกร่งของสถาบันฯร่วมกับความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยต่างๆของไทย เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งจะเชื่อมโยงนักศึกษาไปสู่ปัญหาวิกฤติต่างๆของโลกแห่งความเป็นจริง อันจะเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและรุ่งเรืองสำหรับประเทศ ซึ่งความร่วมมือทางด้านการศึกษาระดับสูงดังกล่าว เป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศไทย เพื่อตอกย้ำสถานะความเป็นศูนย์กลางการศึกษาและงานวิจัยในภูมิภาคเอเชีย ด้วยสถาบันเอไอทีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยรังสิตมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เคยให้เกียรติมาเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีประสาทปริญญาบัตรของสถาบันเอไอทีในปีพ.ศ. 2542 และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเป็นพันธมิตรในอุดมคติสำหรับสถาบันเอไอที สถาบันฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรต่อเนื่องปริญญาตรี และ โท (นานาชาติ) จะผลิตมหาบัณฑิตที่มีมุมมองเชิงสากล อันสอดคล้องกับพันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีต่อไป” อธิการบดีสถาบันเอไอทีกล่าว
ด้าน ดร.สมบูรณ์ สุขสาตร คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยร้งสิต กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สถาบันเอไอทีเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงซึ่งผลิตบัณฑิตที่คุณภาพแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่เปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ ในสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย โดยมีศูนย์กลางการบริหารงานตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี และศูนย์เอไอทีในประเทศเวียดนาม กำลังมองหาพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยมาร่วมโครงการปริญญาตรีควบโทต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งทางสถาบันเอไอทีได้ร่วมหารือกับวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีนโยบายผลักดันมหาวิทยาลัยรังสิตสู่ก้าวสากล และเพื่อเตรียมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“ความร่วมมือในครั้งนี้ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ได้เตรียมนำร่อง 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยนักศึกษาจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาระดับปริญญาตรี ประมาณ 3 ปีครึ่ง จากมหาวิทยาลัยรังสิตและสามารถลงทะเบียนเรียนต่อระดับปริญญาโทต่ออีก 1 ปีครึ่งที่สถาบันเอไอทีได้เลย ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถต่อยอดในสาขาวิชาต่างๆ ได้อาทิ สาขาวิศวกรรมโยธา สามารถต่อยอดด้านวิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน วิศวกรรมธรณีเทคนิคนิคและทรัพยาการปฐพี วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมการขนส่ง และวิศวกรรมแหล่งน้ำและการจัดการ สำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สามารถเลือกต่อยอดได้ในด้าน วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์เครื่องกล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์และระบบสมองกลฝังตัว วิทยาการคอมพิวเตอร์ การจัดการสารสนเทศ และโทรคมนาคม ส่วนด้านที่สามารถต่อยอดได้จากทุกสาขาได้แก่ นาโนเทคโนโลยี และการสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ นักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์จากทั้งสองสถาบัน เช่นการบริการห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ และ/หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาเอง ทั้งนี้ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยรังสิตยังร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัย และได้รับความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและการสอนเพิ่มขึ้นด้วย” คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดรับสมัครนักศึกษาปีการศึกษา 1/2555 โดยรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าที่มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับดี โดยมหาวิทยาลัยและมีการทดสอบภาษาอังกฤษสำหรับเข้าศึกษาต่อและระหว่างที่กำลังศึกษาในหลักสูตร ดังนี้ TELTS/AIT-EET (AIT Test), TOEFL Paper-based, TOEFL Computer-based, TOEFL Internet-based, ICE TEFOW, RSU English Test เป็นต้น โดยคาดว่าจะรับนักศึกษารุ่นแรกประมาณ 60 คน