การใช้โทษปรับตามรายได้แทนจำคุก

จันทร์ ๐๖ มิถุนายน ๒๐๑๑ ๑๕:๑๔
ทีดีอาร์ไอเสนอใช้โทษปรับตามรายได้แทนจำคุก เพื่อป้องปรามการทำความผิดซ้ำในคดีอาญาไม่ร้ายแรง และสร้างความยุติธรรมระหว่างคนรวย-คนจน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และนายสุนทร ตันมันทอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง การใช้โทษปรับในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา โดยมีสาระสำคัญคือ การปรับเป็นเครื่องมือการลงโทษที่เป็นตัวเงิน ซึ่งมีผลในการถ่ายโอนเงินจากผู้กระทำความผิดมาสู่รัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับโทษจำคุกแล้ว โทษปรับมีข้อดีกว่าหลายประการคือ ประการแรก การใช้โทษปรับมีต้นทุนในการบริหารจัดการไม่สูงเท่าโทษจำคุก ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก ประการที่สอง สังคมไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากการได้รับโทษจำคุก ประการที่สาม โทษปรับไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อผู้กระทำความผิดรุนแรงเหมือนโทษจำคุก ซึ่งมักสร้าง “ตราบาป” ที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงสมควรนำโทษปรับมาใช้แทนโทษจำคุกให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ความผิดที่กระทำขึ้นนั้น ไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ เช่น การฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งทำให้ต้องกันตัวผู้กระทำความผิดออกจากสังคมเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก แต่น่าเสียดายที่ ในปัจจุบัน โทษปรับไม่ได้เป็นทางเลือกอย่างแท้จริงแทนโทษจำคุกในประเทศไทย แต่กลับมีลักษณะเสริมโทษจำคุก เช่นมักใช้โทษปรับเมื่อมีการรอลงโทษจำคุก สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า โทษปรับโดยลำพังไม่มีประสิทธิผลในการป้องปรามการทำผิดซ้ำ และความเชื่อที่ว่า โทษปรับจะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน เพราะคนรวยมีความสามารถในการจ่ายค่าปรับมากกว่า

คณะวิจัยเสนอว่าควรนำ “ค่าปรับตามรายได้ (day fines)” มาใช้ในประเทศไทย เพื่อทดแทนโทษจำคุกในกรณีที่มีการทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดอุจฉกรรจ์ โดยการลงโทษปรับตามรายได้ เป็นทางเลือกหนึ่งในการลงโทษที่ถูกใช้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลดีในหลายประเทศในยุโรป เช่น สวีเดนและเยอรมนี โดยมีการศึกษาสนับสนุนว่า โทษปรับที่สูงพอ สามารถป้องปรามการกระทำความผิดซ้ำได้

โทษปรับตามรายได้แตกต่างจากโทษปรับทั่วไปคือ นอกจากค่าปรับจะสอดคล้องตามความร้ายแรง หรือความหนักเบาของความผิดแล้ว ยังขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้กระทำความผิดอีกด้วย ค่าปรับตามรายได้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมของคนที่มีระดับรายได้ต่างๆ กัน จึงน่าจะเหมาะสำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เช่น ประเทศไทย ซึ่งผู้ที่รายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีรายได้มากกว่าผู้ที่รายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ถึงประมาณ 12-15 เท่า โทษปรับตามรายได้จึงสามารถป้องปรามคนทุกระดับรายได้ในการทำความผิดได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การใช้ค่าปรับตามรายได้ยังมีข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ค่าปรับจะถูกปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเกือบอัตโนมัติ เพราะค่าจ้างแรงงานของคนกลุ่มต่างๆ มักจะถูกกำหนดโดยขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพอยู่แล้ว ทำให้ค่าปรับอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ

กระบวนการบังคับโทษปรับตามรายได้ มีขั้นตอนต่างๆ 4 ขั้นตอน คือการคิดคำนวณค่าปรับตามความร้ายแรงของการกระทำ การประเมินรายได้สุทธิที่แท้จริงของผู้กระทำความผิด การจัดเก็บค่าปรับและการกำหนดวิธีการลงโทษเสริม

1) การคิดคำนวณค่าปรับ มีการดำเนินการใน 2 ขั้นตอน คือหนึ่ง กำหนดหน่วยวันปรับ (day-fine unit) ตามความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสอง คำนวณรายได้สุทธิต่อวัน เพื่อคำนวณหาค่าปรับทั้งหมด เช่น สวีเดน กำหนดค่าหน่วยวันปรับในช่วง 1-120 วัน สำหรับฐานความผิดเดียวและไม่เกิน 180 วัน สำหรับหลายฐานความผิด ในขณะที่เยอรมนีกำหนดค่าหน่วยวันปรับในช่วงที่กว้างกว่าคือ 5 - 360 วันและสูงสุดไม่เกิน 720 วัน เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้กรอบแก่ศาลในการใช้ดุลพินิจตัดสินตามสภาพการณ์ของแต่ละคดีได้

2) การประเมินรายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด มีสองประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ สูตรในการคำนวณรายได้ต่อวันและวิธีการหาข้อมูลทางการเงินของผู้กระทำความผิด รายได้ต่อวันของผู้กระทำความผิดที่ประเทศต่างๆ นำมาประเมินเพื่อกำหนดค่าปรับ มักจะเป็นรายได้สุทธิ ซึ่งหมายถึงรายได้ทั้งหมดหักด้วยรายจ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ถูกปรับสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนมากเกินไป ในทางปฏิบัติ แต่ละประเทศที่ใช้โทษปรับตามรายได้มีสูตรในการคำนวณหารายได้สุทธิต่อวันแตกต่างกันออกไป

ไม่ว่าจะเลือกใช้แนวคิดใด ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การประมาณการรายได้ทั้งหมดของผู้กระทำความผิด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจศาลในการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้กระทำความผิด เช่น ข้อมูลการเสียภาษี หรือมิฉะนั้นก็ต้องใช้ข้อมูลจากการสอบสวนของตำรวจหรือการไต่สวนของศาลเอง เพื่อให้ทราบว่าผู้กระทำผิดมีอาชีพอะไร และมีรายได้เท่าใด ขั้นตอนนี้มีความท้าทาย 2 ประการคือ ประการแรก ผู้กระทำความผิดไม่น้อยมีรายได้มาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หากละเลยส่วนนี้จะทำให้ค่าปรับตามรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในทางปฏิบัติ ศาลจึงต้องพิจารณาวิถีชีวิตของผู้กระทำผิดและประวัติการก่อคดีประกอบด้วย ประการที่สอง ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย ประชาชนจำนวนมากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งทำให้ไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการประมาณการรายได้

3) การจัดเก็บค่าปรับ ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาในการจัดเก็บค่าปรับก็คือ การกำหนดระยะเวลาที่สมเหตุผลในการจ่ายค่าปรับ โดยต้องพิจารณาทั้งความร้ายแรงของการกระทำความผิดและความสามารถในการชำระค่าปรับของผู้กระทำผิด เช่น การให้ผ่อนชำระค่าปรับจะทำให้ผู้กระทำความผิดรู้สึกถึงการลงโทษที่น้อยกว่าการให้ชำระค่าปรับทั้งหมดทันที ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่มีฐานะยากจน หากศาลกำหนดให้ต้องชำระโทษปรับทั้งหมดในครั้งเดียวทันที ก็อาจทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือต้องรับโทษอื่นๆ เช่น การกักขังหรือการบริการสังคมแทน

4) การลงโทษเสริม ในการบังคับโทษปรับ มีความเป็นไปได้ที่ผู้กระทำผิดจะไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ เช่น มีฐานะยากจนแต่กระทำความผิดที่ต้องเสียค่าปรับในระดับสูง เป็นต้น กรณีเช่นนี้จะเป็นปัญหาหากเราต้องการให้ใช้โทษปรับตามรายได้แทนการจำคุก เนื่องจากอาจทำให้ผู้กระทำผิดที่มีรายได้ต่ำต้องถูกกักขังแทน หากไม่มีการลงโทษเสริมที่เหมาะสม ตัวอย่างสำหรับการลงโทษเสริมที่มีการบังคับใช้กันในต่างประเทศคือ การให้ทำงานบริการชุมชน (community service) ตามเวลาที่กำหนด โดยในกรณีที่มีการนำบทลงโทษดังกล่าวมาใช้เสริมโทษปรับตามรายได้ ก็จะต้องกำหนด “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างการลงโทษเสริมดังกล่าวและค่าปรับ

สำหรับข้อจำกัดของการใช้โทษปรับตามรายได้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในต่างประเทศชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดที่สำคัญบางประการ ดังนี้

1. โทษปรับตามรายได้ไม่สามารถใช้ทดแทนโทษจำคุกได้อย่างสมบูรณ์ในทุกกรณี แต่จะเหมาะสมกับการใช้เพื่อทดแทนโทษจำคุกในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เรายังคงต้องคงโทษจำคุกไว้ในกรณีที่มีการทำความผิดอุจฉกรรจ์ไว้ต่อไป เพื่อป้องกันสังคมจากการกระทำผิดของอาชญากร

2. แม้โทษปรับตามรายได้จะมีประสิทธิผลมากในการป้องปรามการกระทำความผิดของผู้มีรายได้สูงก็ตาม ก็อาจมีข้อจำกัดในการป้องปรามผู้มีรายได้น้อยไม่ให้กระทำความผิดได้ เพราะค่าปรับอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากเกินไป

3. อาจมีข้อโต้แย้งว่า โทษปรับตามรายได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละรายในฐานความผิดเดียวกันแตกต่างกันตามสถานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีผลเป็นการเลือกการปฏิบัติ และถูกโต้แย้งว่าขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

กล่าวโดยสรุป การศึกษาของคณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรนำเอาโทษปรับตามรายได้มาใช้คดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการลงโทษผู้กระทำความผิด และสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้โทษปรับกับคนที่มีรายได้แตกต่างกันมากได้ นอกจากนี้ การใช้โทษปรับควรได้รับการหนุนเสริมด้วยโทษบริการสังคมในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ส่วนโทษจำคุกนั้น ควรใช้เฉพาะในกรณีที่มีการทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย