“การวางแผนเพื่อเตรียมตัวและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการใช้งาน IPv6 ภายในปี 2554 และปี 2555 เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจและบริการสามารถดำเนินต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งถือเป็นการ upgrade อินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้ได้ผลที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมการ มีการวางแผนในเรื่องการลงทุนและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเร่งดำเนินการหรือต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การวางแผนเพื่อการย้ายและการใช้งาน IPv6 เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการขยายตัวอย่างมั่นคงของอินเทอร์เน็ต รวมถึงต่อวงการ ICT ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับผู้ใช้งานในสำนักงานหรือระดับองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้งานส่วนบุคคลอีกด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว
นอกจากการร่วมทดสอบการใช้งาน IPv4 และ IPv6 แล้ว กระทรวงฯ ยังได้ร่วมกับสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย (IPv6 Forum Thailand) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้ และความเข้าใจในการเตรียมแผนความพร้อมให้แก่ผู้ใช้งานและผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งงานนี้จะมีการบรรยายและเสวนาเพื่อนำเสนอแผนรับมือและการเตรียมศักยภาพและความพร้อมด้าน IPv6 ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย ตลอดจนมีการนำเสนอนิทรรศการแสดงการเชื่อมต่อเครือข่ายและการใช้งานกับเครือข่าย IPv6 ที่ร่วมทดสอบใน World IPv6 Day ด้วย
“การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของแผนรับมือการเปลี่ยนสู่ IPv6 ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อร่วมทดสอบและตรวจสอบการใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 ของประเทศไทย และศึกษาถึงผลกระทบหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องรองรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตพร้อมกันทั้งโลก นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนต่อการดำเนินนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายการขยายจำนวนผู้ใช้งานอีกกว่า 40 ล้านคน จากเป้าหมายร้อยละ 85 ของประชากรภายใน 3 ถึง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหมายเลขอินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อด้วย IPv6 โดยกระทรวงฯ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการด้านไอทีของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการในภาคธุรกิจด้านไอที นักวิชาการ และสื่อมวลชน จำนวน 250 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ
การหมดลงของหมายเลข IPv4 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแรกของโลกในเร็วๆ นี้ จะสร้างปัญหาพอสมควร ต่อการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหม่ จึงทำให้การใช้งาน IPv6 เป็นเรื่องเร่งด่วนขึ้น ซึ่งแม้จะมีการเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ (NGI : Next Generation Internet ) หรือก็คือ IPv6 มากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ได้รับความสนใจ ในวงจำกัด โดยก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในการขยายการใช้งานและยืดอายุ IPv4 แต่ถึงวันนี้โลกกำลังถึงจุดที่หมายเลข IPv4 กำลังจะหมดลงอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นใดที่เหมาะสม นอกจากการเปลี่ยนถ่ายสู่การใช้งาน IPv6 อย่างเดียวเท่านั้น“ นายธานีรัตน์ กล่าว