อันดับเครดิตของภัทรพิจารณาจากความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจวานิชธนกิจและธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลัก-ทรัพย์ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถาบันและกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (high-net-worth clients) รวมทั้ง ระดับเงินทุนที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท และการที่บริษัทไม่มีหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพพิจารณาจากความคาดหมายของฟิทช์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งในธุรกิจหลัก และระดับของเงินทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทอาจผันผวนตามสภาวะของตลาดหลักทรัพย์
การกระจายความเสี่ยงในด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การรักษาระดับกำไรและสถานะทางการตลาดของบริษัทน่าจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของภัทร อย่างไรก็ตาม การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินทุนและสภาพคล่อง รวมทั้งกำไรที่อาจลดลงจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและการเพิ่มเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราส่วนหนี้สินอาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้ นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยงด้านรายได้โดยการเพิ่มปริมาณธุรกรรมในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีบริษัท (Proprietary Trading) หรือการออกตราสารอนุพันธ์อาจส่งผลให้ความเสี่ยงโดยรวมของภัทรปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตได้
ภัทรมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2553 โดยมีกำไรสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาท หรือ มีอัตรากำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 43.5% เนื่องจากกำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ให้กับบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทโฮลดิ้ง และรายได้ที่เพิ่มขึ้น สำหรับไตรมาสแรกของปี 2554 ภัทรยังคงมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เป็น 156.7 ล้านบาท หรือ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 15.5% เนื่องจากสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับดีต่อเนื่อง ในขณะที่สภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ดีและความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัท น่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของภัทรในปี 2554 ปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ในธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) และ ธุรกิจวานิชธนกิจ ฟิทช์คาดว่า ความแข็งแกร่งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และในธุรกิจวานิชธนกิจของภัทร จะสามารถช่วยให้บริษัทมีผลการดำเนินงานในระดับที่ดีได้ในระยะปานกลาง นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยงในด้านรายได้ของภัทร ทั้งในธุรกิจวานิชธนกิจที่มุ่งเน้นในการดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มขึ้น และการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้า น่าจะช่วยทำให้รายได้ของบริษัทมีความผันผวนลดลงในช่วงที่สภาวะตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวน
ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงเป็นแหล่งเงินทุนหลักของบริษัท ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับที่สูง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio หรือ NCR) ของภัทร ลดลงอย่างมากเป็น 66% ณ สิ้นปี 2553 จาก 145% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไปยังบริษัทโฮลดิ้ง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ 7% อีกทั้งอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 44% อย่างไรก็ตาม เงินทุนของบริษัทอาจลดลงในอนาคตเนื่องจากบริษัทอาจจะมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง (ที่ประมาณ 100% หรือมากกว่า) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของสินทรัพย์ของบริษัทโฮลดิ้ง
ภัทรดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2517 และบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการแยกเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ออกมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) มาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในปี 2540 หลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2553 บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นภัทรในสัดส่วน 99.7% ภัทรเป็นบริษัทชั้นนำในด้านวานิชธนกิจและในด้านวิจัยหลักทรัพย์ในประเทศไทย