อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ปลัดกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาต้นทุนของเอ็นจีวีที่เป็นจริง โดยให้ทาง ปตท.เสนอตัวเลขต้นทุนเอ็นจีวีให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะให้มีการทบทวนการปรับราคาทุก 4 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็จะมีการนำเสนอให้มีการปรับราคาขึ้นราคาเอ็นจีวี
ทั้งนี้ ปตท.ได้ชี้แจงว่า ราคาขายเอ็นจีวี เป็นราคาเดียวกับที่ขายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% และส่วนที่ขายเป็นเอ็นจีวี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% โดยต้นทุนราคาเนื้อก๊าซฯ ที่ปลายท่อส่งก๊าซฯ จะเท่ากันที่ ประมาณ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเอ็นจีวีจะมีการบวกต้นทุนค่าดำเนินการสถานีบริการตามแนวท่อ ประมาณ 2.43 บาทต่อกิโลกรัม ค่าการตลาดของสถานีแม่ ประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลกกรัม ซึ่งหากรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ราคาราคาเอ็นจีวีที่แนวท่อจะอยู่ที่ประมาณกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อรวมค่าบริหารจัดการ และค่าขนส่งแล้วราคาเอ็นจีวีจะเป็นเท่าไรก็จะขึ้นอยู่กับระยะทาง แต่การที่ ปตท.กำหนดราคาต้นทุนที่ประมาณ 14 บาทต่อกิโกกรัม เพื่อเป็นการเฉลี่ยราคาขายระหว่างระยะทางใกล้และไกลให้เท่ากัน เพราะหากขายตามต้นทุนจริง ราคาเอ็นจีวีใน จังหวัดเชียงใหม่ อาจจะสูงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม
“ปัจจุบัน ปตท.ต้องขายเอ็นจีวีในราคาที่ขาดทุน ทำให้แบกภาระขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องดีที่กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาต้นทุน ก็จะทำให้รู้ว่า ปตท.มีต้นทุนที่แท้จริงอย่างไร ซึ่งการขอปรับราคาก็เพื่อที่จะทำให้ ปตท.สามารถอยู่ได้ และมีเงินในการลงทุนขยายสถานีเอ็นจีวีเพิ่มเติม แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้ ปตท.ทยอยปรับราคาอย่างไร ซึ่ง ปตท.เองก็ไม่ต้องการที่จะปรับทีเดียวให้ถึง 14 บาทต่อกิโลกรัม เลย” นา ยเติมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยืนยันที่จะขยายการให้บริการเอ็นจีวีต่อไป เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันความสามารถในการจ่ายเอ็นจีวีมีปริมาณ 7,000 ตันต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้ประมาณ 6,400 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วมาก เพราะราคาเอ็นจีวีได้ถูกตรึงไว้เป็นเวลานาน และมีราคาถูกกว่าพลังงานชนิดอื่นมาก
ส่วนปัญหาการขาดแคลนเอ็นจีวีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ ปัจจุบันได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ตั้งแต่การก่อสร้างส่วนขยายสถานีแม่ที่ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ทำให้มีความสามารถจ่ายก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน และสถานีแม่ที่น้ำพอง จ.ขอนแก่น ก็ทำให้มีกำลังการจ่ายไปทั้งสองภาคเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว จะต้องแก้ไขกลไกราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนต้นทุนตลาด เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้มีการขยายสถานีแม่และสถานีลูกเอ็นจีวีมากขึ้น นอกจากนี้ ปตท.มีแผนที่จะก่อสร้างท่อส่งก๊าซไปที่ จ.นครสวรรค์ และจ.นครราชสีมา ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 ก็จะทำให้มีก๊าซฯ ตามแนวท่อมากขึ้นที่จะจ่ายไปยังภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งจะทำให้ราคาเอ็นจีวีอาจจะถูกขึ้นในอนาคตได้