นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จังหวัดลำปางเป็นที่ตั้งของเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา หากเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเฉพาะแผ่นดินไหว อาจสร้างเสียหายต่อโครงสร้างของเขื่อน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติการตอบโต้กรณีเกิดวิกฤตเขื่อนพิบัติขนาดรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง จึงได้ร่วมกับจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2554 การบัญชาการเผชิญสถานการณ์วิกฤตกรณีเขื่อนพิบัติขนาดรุนแรง DAM BREAK — EX 11 ในวันที่ 15 — 16 มิถุนายน 2554 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ผู้ร่วมฝึกซ้อมแผนประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 อำเภอของจังหวัดลำปาง ได้แก่ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก สำหรับการฝึกซ้อมแผนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบระบบปฏิบัติการ ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ และระบบการสื่อสารหลักและการสื่อสารรอง ระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน โดยแบ่งการฝึกซ้อมเป็น 2 วัน ดังนี้ วันที่ 15 มิถุนายน 2554 ได้แก่ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และฝึกซ้อมในที่บังคับการ วันที่ 16 มิถุนายน 2554 ในรูปแบบการฝึกซ้อมบัญชาการเหตุการณ์ในการเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีศูนย์กลางบริเวณเทือกเขาอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเขื่อน ทำให้น้ำไหลบ่า เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรุนแรง จนต้องระดมสรรพกำลังของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดลำปางและ ในระดับกลุ่มจังหวัดเข้าเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า การฝึกซ้อมแผนฯ ดังกล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะ ความชำนาญในการปฏิบัติงานตอบโต้และเผชิญสถานการณ์วิกฤตกรณีเขื่อนพิบัติขนาดรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนสามารถนำผลจากการฝึกซ้อมแผนฯ ไปปรับปรุงแผนปฏิบัติการในทุกระดับของกลุ่มจังหวัดให้เป็นระบบครบวงจร และมีการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยปฏิบัติหลักและหน่วยสนับสนุนได้อย่างมีเอกภาพ ซึ่งจะช่วย ลดความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน และสร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย