มูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลนครนนทบุรี จัด “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” รำลึก ๑๑๑ ปี ชาตกาล ครูมนตรี ตราโมท

อังคาร ๑๔ มิถุนายน ๒๐๑๑ ๑๓:๕๔
มูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลนครนนทบุรี แถลงข่าวโครงการ รำลึกวาระ ๑๑๑ ปี ชาตกาล ครูมนตรี ตราโมท จัดกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 ถึง วันที่ 17 มิถุนายน 2555 สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่ผลงาน ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินครู ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินอาเซียน และระดมทุนเพื่อการดำเนินการเก็บรักษาและเผยแพร่ผลงานของครูมนตรี ตราโมท โดยจะจัดงาน “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” ระหว่างวันที่ 17 — 19 มิถุนายน 2554 ณ โรงละครแห่งชาติ เป็นกิจกรรมแรกในโครงการ โดยในงานจะมีการจัดนิทรรศการประวัติและผลงานของครูมนตรี ตราโมท และการแสดงบนเวที ประกอบด้วยการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทย 5 ยุค 5 รอบ จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลป ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รวมทั้งศิลปินและลูกศิษย์ของครูมนตรี ตราโมท

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ประธานมูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า “วันครูมนตรี ตราโมท ประจำปี 2554 (17 มิถุนายน 2554) นี้ถือเป็นวันเริ่มต้นวาระ ๑๑๑ ปี ชาตกาล ครูมนตรี ตราโมท ซึ่งจะครบรอบ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2555 มูลนิธิฯ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลนครนนทบุรี จึงจัดโครงการ รำลึกวาระ ๑๑๑ ปี ชาตกาล ครูมนตรี ตราโมท ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงาน ครูมนตรี ตราโมท และระดมทุนเพื่อการดำเนินการเก็บรักษาและเผยแพร่ผลงานของครูมนตรี ตราโมท ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 ถึง วันที่ 17 มิถุนายน 2555

การจัด ”มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” ระหว่างวันที่ 17 — 19 มิถุนายน 2554 ณ โรงละครแห่งชาติ นับเป็นกิจกรรมแรกในการเผยแพร่ เกียรติคุณของครูมนตรี ตราโมท ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวความคิดและการดำเนินชีวิตที่อุทิศให้แก่งานการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์ไทย ผ่านผลงานวิจัยทางวิชาการของครูมนตรีตราโมท เรื่องระบำโบราณคดี ทั้ง ๕ ยุค ซึ่งเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของชาติในภาคพื้นอุษาคเนย์ โดยจัดการแสดงจำนวน ๕ รอบ แบ่งไปตามมรดกทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย นอกจากการแสดงบนเวทียังมีนิทรรศการประวัติและผลงานของครูมนตรี ตราโมท ที่แสดงถึงการดำเนินชีวิตอันงดงามของครูมนตรี ตราโมท ที่สามารถใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของคนรุ่นหลัง โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานและผู้ที่อยู่ในแวดวงดุริยางคศิลป์ไทย ประชาชนทั่วไป และเยาวชน ได้รำลึกถึงศิลปินครูผู้มีคุณูปการต่อวงการดุริยางคศิลป์ไทยมาเป็นเวลาช้านาน และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางคนตรีและนาฏศิลป์ของชาติให้ยั่งยืนสืบไป”

นอกจากงาน “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” ในเดือนมิถุนายน ศกนี้แล้ว กิจกรรมหลักอื่นๆ ในโครงการรำลึก ๑๑๑ ปี ชาตกาล ครูมนตรี ตราโมท จะประกอบด้วย การจัดงาน ASEAN Classical Music Festival กิจกรรมระดับนานาชาติที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของดนตรีแห่งอุษาคเนย์ ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 การจัดทำหนังสือปกแข็งสองภาษา และภาพยนตร์สารคดี ครูมนตรี ตราโมท คีตฑูตาแห่งอุษาคเนย์ บันทึกประวัติศาสตร์วัฒนธรรมดนตรีไทย และความเชื่อมโยงสู่วัฒนธรรมดนตรีแห่งอุษาคเนย์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2555

นางสาวจันทร์สุดา รักษ์พลเมือง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ครูมนตรี ตราโมท นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ได้ทำประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้แก่วงการดนตรีและนาฏศิลป์ไทย นอกจากการเป็นศิลปินที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์และความสามารถแล้วครูมนตรี ตราโมท ยังเป็นครูที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของการถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างแท้จริง และมีส่วนสำคัญในการสืบทอดและอนุรักษ์ดนตรีไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 แผ่นดิน จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ท่านแรกในสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เป็นคีตกวี 5 แผ่นดินที่อนุชนรุ่นหลังควรจะได้ศึกษาเรียนรู้ชีวประวัติและผลงานของท่าน ผู้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่แน่วแน่ในการสร้างสรรค์และผดุงรักษาศิลปะด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทยให้คงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีการดำเนินชีวิตที่เงียบสงบ เรียบง่ายและพอเพียง นอกจากผลงานในระดับชาติแล้ว ครูมนตรี ตราโมท ยังได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินอาเซียน อีกทั้งยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2529 ผ่านผลงานวิจัยระบำโบราณคดี 5 ยุค ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการแสดงระบำโบราณคดี ที่จะจัดแสดงบนเวทีในงาน “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” กระทรวงวัฒนธรรมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ และขอเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงานเพื่อสืบสานปณิธานของครูมนตรี ตราโมทต่อไป”

นายธนพงศ์ ธนเดชากุล รองนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เปิดเผยว่า “จังหวัดนนทบุรีตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกของชาติตลอดมาและมีความภูมิใจที่พื้นที่ในเขตจังหวัดของเราได้เป็นที่ตั้งของ บ้าน และ พิพิธภัณฑ์บ้านครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติที่มีคุณูปการอเนกอนันต์ต่อมรดกทางดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ชาวนครนนทบุรีนับว่ามีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับครูมนตรี ตราโมท และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในถนนเพลงไทยชุมชนซอยพิชยนันท์ ซึ่งครูมนตรีได้ตั้งชื่อซอยต่าง ๆ เป็นชื่อเพลงไทยที่มีความหมายเป็นมงคล พิพิธภัณฑ์บ้านครูมนตรี ตราโมท ซึ่งตั้งอยู่ในซอย พิชยนันท์ 2 (ซอยโสมส่องแสง) นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านดุริยางคศิลป์ไทยของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดนนทบุรีแล้ว บ้านหลังนี้ยังจะทำให้แขกผู้มาเยือนเกิดความมั่นใจว่า ผลสำเร็จของชีวิตไม่ได้วัดกันที่วัตถุเท่านั้นแต่ยังสามารถวัดได้จากเกียรติยศที่ได้รับอันเนื่องมาจากความเสียสละ เทศบาลนครนนทบุรีจึงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ชื่อเพลงไทยประจำถนนเพลงไทยและได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิฯตลอดมา ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีดนตรีไทยให้แก่ชุมชนนครนนทบุรีและสังคมใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้การเรียนการสอนดนตรีไทยได้พัฒนาก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป การจัดงาน “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” นอกจากจะเป็นการรำลึก ๑๑๑ ปีชาตกาลครูมนตรี ตราโมทแล้ว เทศบาลนครนนทบุรียังมุ่งหวังที่จะสืบทอดการจัดงานดังกล่าวให้เป็นงานประจำปีของจังหวัดต่อไปด้วย”

มูลนิธิมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2527 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ดนตรีไทยให้ดำรงอยู่อย่างประณีตงดงามสมเป็นสมบัติอันมีค่าของแผ่นดินไทย ส่งเสริมการถ่ายทอดและเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

งาน “มหกรรมดนตรีไทยแห่งอุษาคเนย์” รำลึก ๑๑๑ ปี ชาตกาล ของครูมนตรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 19 มิถุนายน 2554 ณ โรงละครแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนด้านการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลป ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการประวัติและผลงานของครูมนตรี ตราโมท การบรรเลงดนตรีและนาฏศิลป์ไทย 5 ยุค 5 รอบ ได้แก่ ยุคทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน และ สุโขทัย การบรรเลงดนตรีไทยร่วมสมัยจากลูกศิษย์ครูมนตรี ตราโมท การแสดงละคร ร่วมด้วยศิลปินเกียรติยศ อาทิ ขวัญจิต ศรีประจัน ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ครูมืดและตลกกรมศิลปากร ฯลฯ บัตรราคา 100/200/300 และ 500 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษา ลดครึ่งราคา และแพกเกจพิเศษสำหรับบัตรจำนวน 5 รอบ ในราคา 4 รอบเท่านั้น สำหรับแพกเกจ บัตรที่นั่งราคา 500 บาท จะได้รับซีดีเพลงระบำโบราณคดี ซึ่งเป็นต้นฉบับเพลงระบำโบราณคดี 5 ยุคที่ครูมนตรี เป็นผู้ควบคุมการบรรเลงด้วยตนเองพร้อมหนังสือระบำโบราณคดีที่สำเนามาจากต้นฉบับที่แจกในการแสดงหน้าพระที่นั่งเมื่อปี พ.ศ. 2510 จำนวน 1 ชุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่ โรงละครแห่งชาติ โทร. 02-2241342 และมูลนิธิครูมนตรี ตราโมท ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โทร. 02-9689498 และ 02-5275257

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์ จำกัด

กรณิการ์ พีรานนท์ / บุษกร นันทวิจิตร

โทร 02-3146877 แฟกซ์ 02-3188847

E-Mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ