ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาอาวุโส สนช. กล่าวว่า “ข้าว...เป็นพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากปัญหาการภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตข้าว รวมถึงตลาดการค้าข้าวที่ต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการรักษาคุณภาพ
“ข้าว” มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง รวมถึงราคาในตลาดผันผวนได้ง่าย นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตถือสินค้าไว้ขายในขณะที่มีราคาสูงได้ไม่นาน ซึ่งเห็นได้ว่าราคาข้าวยังไม่มีความยั่งยืนด้านราคา และการแข่งขันในตลาดโลก แต่เมื่อพิจารณาจากช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวแล้ว จะเห็นว่ามีโอกาสขยายตัวสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ในกลุ่มของเส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ซึ่งในปี 2553 มีปริมาณการส่งออกทั้งหมด 220,000 ตัน มูลค่าการส่งออก 8,250 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับผลผลิตด้านการเกษตร เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสร้างความต่างที่ชัดเจนในตลาดการแข่งขันแล้ว ตลอดจนความมั่นคงของพื้นที่การเพาะปลูก ที่เน้นการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้เกิดเป็น “เกษตรสร้างสรรค์” ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย”
ดร. สุเมธ กล่าวต่อไปว่า “การจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2554 นี้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทย ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและพัฒนาความใฝ่รู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมข้าวไทย ตลอดจนเพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้กับผู้คิดค้นนวัตกรรมข้าวไทย โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ 1) เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนต่างๆ ของข้าว 2) กระบวนการผลิตที่เป็นนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ข้าวไทย 3) ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์และสามารถเก็บรักษาได้ และ 4) ผลงานต้องไม่เคยได้รับรางวัลระดับชาติ ผ่านเกณฑ์การตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะพิจารณาจากความเป็นนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไทย ศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ที่ได้รับทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”
ปัจจุบันตลาดข้าวของไทยเริ่มจะถูกประเทศเวียดนามแซงหน้า ทำให้คนไทยต้องหันมาคิดแล้วว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันและกลับมาครองตำแหน่งผู้นำด้านตลาดข้าวได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณได้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน โดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งเหล่านั้นก็คือ นวัตกรรมอย่างหนึ่ง เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย ซึ่งการจัดประกวดครั้งนี้ มูลนิธิฯ หวังจะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสในภูมิภาคต่างๆ จึงอยากจะฝากให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการนำภูมิปัญญาไทยมาสร้างให้เกิดมูลค่า การเคารพในคุณค่าของแผ่นดินไทย และส่งเสริมสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนอกจากประเทศชาติจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ชาวนาของไทยจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพ้นยุคสงครามพลังงานไปแล้ว และกำลังจะก้าวสู่ยุคสงครามด้านอาหาร ดังนั้น หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและวางรากฐานที่ดีในการบริหารจัดการแหล่งอาหารให้มีประสิทธิภาพก็จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบกับนานาประเทศ ซึ่งถือว่าประเทศไทยโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยพสกนิกร และทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของ ดิน น้ำ ลม ไฟ”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า “เมื่อพิจารณาจากช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวแล้ว จะเห็นว่ามีโอกาสขยายตัวสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ในกลุ่มของอาหารสุขภาพ (functional food) กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย (ready & easy) และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและยา (health care) สนช. จึงได้พยายามกำหนดทิศทางของการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะมุ่งไปยังการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น”จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกอยู่แค่กลุ่มอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังสามารถกระจายโอกาสไปยังเกษตรกร และชาวนาผู้ปลูกข้าว เพราะสินค้านวัตกรรมนั้นมีกลไกการตลาดของตัวเอง ไม่ได้อิงกับฐานสินค้าโภคภัณฑ์และไม่มีเงื่อนไขของการค้าระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับการส่งออกข้าวสาร ที่ราคาถูกกำหนดโดยกลไกของตลาด ก่อให้เกิดความผันผวนและการเก็งกำไรเป็นระยะ เกษตรกรจึงมีโอกาสในการลดความผันผวนของราคาข้าวได้มากขึ้น แต่สามารถจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย อีกทั้งยังสามารถตกลงกับผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมในฐานะที่ “ข้าวเป็นวัตถุดิบสินค้านวัตกรรม” ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมา สนช. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้วจำนวน 24 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 20 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวม 287,025,733 บาท และได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และจัดพิธีมอบรางวัลใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้องค์ความรู้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรหลักของประเทศ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการข้าวไทย นับตั้งแต่เกษตรกร หรือชาวนาไทย จนถึงผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทย และพัฒนาความใฝ่รู้ด้านเทคโนโลยีในข้าวตลอดจนการสร้าง “วัฒนธรรมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าว” ให้เกิดขึ้นในประเทศ” นายศุภชัย กล่าวปิดท้าย
ประเภทรางวัล
รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล ได้รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล ได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท
รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล ได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินสดรางวัลละ 5,000 บาท
ข้อมูลเพิ่มเติม : บริษัท ชัยพีอาร์ จำกัด
จันทร์จิรา นาสี(นุ้ย) โทรศัพท์ 0-261-5264 อีเมล์: [email protected]
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-641-5341 Chai PR Co., Ltd.