นางนฤมล ปาลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม ชุมชน ท้องถิ่น โดยได้ตั้งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นประธานคณะทำงานด้านสังคม และมี รองผู้ว่าฯด้านสังคมเป็นรองประธาน ตามกลุ่มภารกิจ โดยคณะทำงานจะต้องหาข้อมูลว่า จะแก้ปัญหาหรือร่วมพัฒนาสังคมด้านไหน ซึ่งในการที่จะเสนองบประมาณนั้น จังหวัดเชียงใหม่จึงไม่ค่อยถูกตัดงบเนื่องจากประชาชนจะมีส่วนร่วมโดยผ่านคณบดีคณะสังคมศาสตร์
นายปฏิภาณ จุมผา ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า จังหวัดเชียงใหม่มีเครือข่ายภาคประชาชน ๖๓ พื้นที่ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ มีเครือข่ายระดับจังหวัดและเครือข่ายโซน แบ่งการทำงานเป็น ๓ โซน คือโซนเหนือ โซนกลาง และใต้ และมีหน่วยงานภาคประชาสังคมและภาคี ในการช่วยพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ลักษณะการทำงานคือชุมชนจัดการตนเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ได้แก่ หน่วยงานในกระทรวงพม. และหน่วยงานท้องถิ่นโดยใช้โจทย์เรื่องสวัสดิการเป็นเครื่องมือ ส่วนเรื่องเครือข่ายเมืองได้ขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยเมือง ได้ทำงานร่วมกับกรมธนารักษ์ และที่ดินอำเภอ
ในวันต่อมา ประธานกรรมการสถาพัฒนาองค์กรชุมชน และคณะได้ลงพื้นที่ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูแผนของชุมชนและการบูรณาการแผนของชุมชนร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น โดยมีนายอำเภอชียงดาว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ และผู้นำชุมชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยน และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนและสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่นะ
นายวินิต ชัยชิต กล่าวว่า ตำบลแม่นะมีวิสัยทัศน์ของตำบลคือคืนผืนป่าให้แผ่นดิน คืนทรัพย์สินให้ธรรมชาติ คืนอำนาจให้ประชาชน คืนตัวตนให้สง่างาม โดยได้ใช้สภาองค์กรชุมชนเชื่อมโยงกับแผนแม่บทชุมชน ซึ่งได้ทำร่วมกับพัฒนาชุมชน ให้ทุกหมู่บ้านมีแผนเป็นของตนเองและบูรณาการแผนของหมู่บ้านเป็นแผนของตำบลโดยมี อบต. เข้ามามีส่วนร่วมในการทำประชาคม และให้การทำงานประเด็นต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนงานสภา ผลที่เกิดจากกระบวนการทำงานทำให้ตำบลแม่นะ ขับเคลื่อนหลายประเด็นเช่น สวัสดิการชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชน หมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชน ส่วนด้านทรัพยากร ได้เข้าร่วมโครงการ “รักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตําบล วิถีพอเพียง”ของ ปตท.
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เสนอว่า การทำแผนทีดี่ไม่ควรเป็นเพียงแต่ขั้นตอนและวิธีทำ ภาคประชาชนจะต้องร่วมวิเคราะห์ข้อมูลและเป้าหมายร่วมกัน ว่าเป็นหน้าที่ของใคร จะร่วมมือกันทำงานได้อย่างไร การวิเคราะห์ก็ต้องทำร่วมกัน
“อยากเห็นแผนชุมชนเป็นเครื่องมือที่แท้จริงของชุมชน ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการ ควรจะมีการประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยทำแผนร่วมกัน อาจต้องอาศัยฝ่ายปกครอง โดยอบต.เป็นหลัก ถ้าชุมชนและอบต.มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน และอบต.เข้าใจแผนที่ชุมชนเป็นคนทำ ก็ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาเป็นนายกอบต. เพราะสุดท้ายหน่วยงานท้องถิ่นก็ต้องทำตามแผนที่ชุมชนได้ร่วมกันวางไว้” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0533333 ดวงมณี