นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.เปิดเผยว่า ผลที่ได้จากโครงการร่วมวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ระบบการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของประเทศไทย ส่งผลให้คืนต้นทุนเร็วขึ้น ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเลือกใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งานในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการนำเข้าพลังงานปิโตรเลียมจากต่างประเทศ เป็นการสนองนโยบายด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2551-2565 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน ในการใช้พลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนโดยรวมลดลง นอกจากนี้ยังจะนำไปใช้ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งระบบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ติดตั้งอยู่แล้ว เช่น การทำความสะอาด การลดอุณหภูมิ และการปรับมุมรับแสงของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนคเทคได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบเซลล์ซ้อน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 การร่วมงานวิจัยกับ ปตท. ในโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและนำเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้งานในประเทศไทย โดยผลจากการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่า เซลล์แสงอาทิตย์แต่ละชนิดเหมาะสมต่อการใช้งานในประเทศไทยอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปปรับปรุงวิธีการติดตั้งใช้งานเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้อีกด้วย และหากมีความเป็นไปได้ในอนาคต โครงการจะทำการขยายผล โดยการนำผลงานวิจัยไปถ่ายทอดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมของเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ซึ่งจะถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของโครงการทีเดียว