ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้และคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. บีเอสแอล ลีสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

พุธ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๑๑ ๑๖:๓๖
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้สำหรับการขยายสินเชื่อเป็นหลัก ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ แนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับการยอมรับ สถานะทางการตลาดและผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทไม่มีเครือข่ายการให้บริการลูกค้าที่อยู่นอกบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ตลอดจนอัตราการก่อหนี้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น และการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัดจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผลกระทบจากกฎระเบียบที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยเรื่องการให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันอันจะส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นทางการเงินและเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปพร้อมกับการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่งก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ประเทศญี่ปุ่น (เดิมชื่อ Mitsui Taiyo Kobe Bank) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการทางการเงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะในอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาลีสซิ่งและเช่าซื้อ และในปี 2547 ได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง การปรับโครงสร้างภายในของกลุ่มธนาคารกรุงเทพในปี 2548 มีผลทำให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 10% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนลดลงเหลือ 40% อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธนาคารกรุงเทพได้ซื้อหุ้นจำนวน 10% คืนจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของธนาคารกรุงเทพที่จะให้การสนับสนุนบริษัทต่อไป

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สถานะทางธุรกิจและการตลาดของบริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรในลำดับที่ 3 ในจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 12 รายซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งในปี 2552 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากลำดับที่ 5 ในปี 2551 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 2,438 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 4,568 ล้านบาทในปี 2552 และยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 4,848 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ด้วยเหตุที่ธุรกิจของบริษัทมีการกระจุกตัวเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว จึงทำให้เกิดการจำกัดลูกค้าไว้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ขาดความหลากหลายในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่อื่น ๆ

ในปี 2551 บริษัทได้ปรับปรุงนโยบายด้านบัญชีในการบันทึกค่าเสื่อมราคาโดยเปลี่ยนวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาจากการรวมผลจำนวนงวดเพื่อลดราคาตามบัญชี (Sum of the Years Digits -- SYD) มาเป็นแบบเส้นตรง (Straight-line) พร้อมรวมการประเมินค่าซากในการคำนวณค่าเสื่อมราคา ซึ่งการเปลี่ยนนโยบายค่าเสื่อมราคาดังกล่าวทำให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2551-2552 เนื่องจากค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์ให้เช่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้สุทธิ (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ระหว่าง 100-300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2546-2550 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 587 ล้านบาทในปี 2551 และลดลงเป็น 493 ล้านบาทในปี 2552 รายได้สุทธิปรับลดลงสู่ระดับปกติที่ 415 ล้านบาทในปี 2553 แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาเนื่องจากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในระดับสูงที่ 26.79% ในปี 2549 ระดับ 28.19% ในปี 2550 ระดับ 48.71% ในปี 2551 และระดับ 27.82% ในปี 2552 ฐานทุนที่เพิ่มขึ้นจากผลประกอบการที่ดีในระหว่างปี 2551-2552 ส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับลดลงเป็น 16.43% ในปี 2553

การบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่า (Residual Value) ที่มีประสิทธิภาพทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีในปี 2551 บริษัทมีรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 22%-23% ของรายได้สุทธิ บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 72 ล้านบาทในปี 2549 ระดับ 73 ล้านบาทในปี 2550 และระดับ 32 ล้านบาทในปี 2551 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ล้านบาทในปี 2552 เนื่องจากมีสินทรัพย์ให้เช่าจำนวนมากที่หมดอายุสัญญาเช่าในปีเดียวกันนั้น ต่อมากำไรดังกล่าวลดลงเหลือ 23 ล้านบาทในปี 2553 ทั้งนี้ หลังจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาแล้วบริษัทก็มีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าต่อรายได้รวมในสัดส่วนที่ลดลง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหลายฉบับ โดยหนึ่งในระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งสินเชื่อที่จะให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งแล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากประกาศดังกล่าวทำให้ความยืดหยุ่นในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทมีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากในขณะนั้นบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2552 บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้น และเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้เพียง 7% ที่กู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกรุงเทพและมีวงเงินกู้ยืมที่ยังสามารถใช้ได้จากผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนรวม 1,415 ล้านบาทซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง

บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีแม้จะมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมักมีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยในระดับประมาณ 2% ซึ่งนับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต โดยบริษัทได้มีการกันสำรองสำหรับรองรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไว้เต็มจำนวนแล้ว ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BLS)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2556 BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version