นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีความสำคัญต่อผู้มีเงินออมทั้งประเทศ โดยผู้ที่มีเงินฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบนี้จะได้รับการคุ้มครองโดยทันทีอัตโนมัติ ผู้ฝากเงินจึงไม่ต้องกังวลเมื่อเกิดปัญหากับสถาบันการเงินที่ได้ฝากไว้ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 107 ประเทศทั่วโลกที่ได้ใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากแบบนี้ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย โดยเริ่มจากการที่คุ้มครองเต็มวงเงินและจะทยอยลดวงเงินคุ้มครองลง เพื่อการปรับตัวและวางแผนสำหรับผู้ฝากเงิน ซึ่งในปี 2554 จะเริ่มลดคุ้มครองวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และในปี 2555 เป็นต้นไป ก็จะคุ้มครองในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท
“1 ล้านบาท เป็นวงเงินที่สามารถคุ้มครองเงินฝากคนไทยเกือบทั้งประเทศได้ เนื่องจากจำนวนบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 98.5% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศยังได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนอยู่” นายสิงหะกล่าว
และการที่มีการลดวงเงินคุ้มครอง เนื่องมาจากเพราะเรามุ่งคุ้มครองเต็มจำนวนให้กับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในระบบ ที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหนึ่งสถาบันการเงิน ซึ่งมีถึง 98.5% ทั่วประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน การคุ้มครองเงินฝากของไทยก็อยู่ในระดับที่สูง กล่าวคือ ประมาณ 7 เท่าของรายได้ประชาชาติถัวเฉลี่ย
ดังนั้น วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยวงเงินคุ้มครองต่อรายได้ต่อหัวของไทยซึ่งอยู่ประมาณ 7 เท่า ซึ่งนับสูงกว่าทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยกันเอง ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์มีวงเงินคุ้มครองต่อ GDP Per Capita อยู่ที่ 1 เท่า อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.75 เท่า หรือถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าคนไทยเกือบ 4 เท่า แต่มีวงเงินคุ้มครองมากกว่าไทยเพียงเล็กน้อยเทียบเป็น GDP Per Capita อยู่ที่ 2.14 เท่า อยู่ที่ 50 ล้านวอนหรือประมาณ 1.3 ล้านบาท
ข้อมูล ณ ม.ค.2554
แต่ยังมีเม็ดเงินอีกกว่า 5.3 ล้านล้านบาท ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการกำหนดเพดานวงเงินคุ้มครอง แม้จำนวนบัญชีที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท จะมีสัดส่วนแค่ 1.5% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่ก็มีมูลค่าเงินฝากกว่า 70% ของมูลค่าเงินฝากทั้งระบบ ผู้เป็นเจ้าของเม็ดเงินจำนวนนี้เองเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกการกำหนดวงเงินคุ้มครอง แต่ก็ยังมีทางเลือกที่จะจัดการกับความเสี่ยงได้อีกหลายวิธีจะเห็นได้ว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยส่วนใหญ่ที่มีเงินฝาก ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีเงินออมในบัญชีแล้ว ยังเป็นกลไกที่จะสร้างวินัยทางการเงินซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง โปร่งใส่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ฝากเงินทุกคน
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดต่างๆของสถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถติดตามได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0300
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เลขที่ 1 อาคารอีสท์วอเตอร์ ชั้น 17 — 18 ถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 5 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
สำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร โทร. 02-272-0300 ต่อ 127/ www.dpa.or.th