ดร.นพดล กล่าวว่าการทำ Exit Poll คือ การสำรวจการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนหน้าหน่วยเลือกตั้งตามหลักวิชาการด้านสถิติ ผ่านการอนุญาตของ กกต. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า “สามารถทำได้” โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่สำนักวิจัย ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษากว่าหมื่นคน ประจำหน่วยเลือกตั้งตัวอย่างทั่วประเทศ และหลังปิดหีบเลือกตั้ง ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนทั้งประเทศจะได้ทราบทันที ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) ว่าพรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อกี่ที่นั่ง และส.ส. เขต จำนวนกี่ท่าน จากทั้งหมด 500 ที่นั่งทั่วประเทศ
“ ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้เคยพบและแลกเปลี่ยน เรียนรู้หลักวิชาการทำวิจัยร่วมกัน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันนำหลักวิชาการ มาประยุกต์ใช้กับการวิจัยจริง ในโอกาสที่มีการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงนี้ ทั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งจริง” ดร. นพดล กล่าว
ในขณะที่ รศ.ดร .เฉลิมชัย รองอธิการบดีกล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะร่วมมือกับเอแบคโพลล์ ทำเอ็กซ์ซิทโพลล์ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย แพร่ และ ลำพูน โดยจะทำสำรวจทั้งหมดกว่า 15,000 ตัวอย่าง ซึ่งทางเอแบคโพลล์เป็นผู้เลือกหน่วยเลือกตั้งตามหลักสถิติ และได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่านับเป็นโอกาสดี ที่นักศึกษาแม่โจ้จะได้มีโอกาสเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยจริง ทั้งนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของนักศึกษาที่จะลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนแล้ว ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว
ดร.นพดล กล่าวเสริมว่า ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งจริง 3 กรกฎาคมนี้ พนักงานเก็บข้อมูลจะแต่งเครื่องแบบนักศึกษา และมีบัตรติดหน้าออก พร้อมกับมีจดหมายจาก กกต. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตัวไปเพื่อ แนะนำต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และขอความอนุเคราะห์ตอบแบบสอบถาม เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการว่า เลือกผู้สมัครเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ทั้งนี้นักเรียนนักศึกษาที่ลงไปปฏิบัติงานก็จะได้รับทุนการศึกษา ในโอกาสนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ในเวลานี้มีทั้งโพลล์แท้ โพลล์เทียม และโพลล์ปลุกระดม ประชาชนควรทำอย่างไรในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ผอ.เอแบคโพลล์กล่าวว่า ประชาชนอย่าได้เชื่อผลโพลล์ อย่ายึดมั่นถือมั่น แต่ก็อย่ามองข้าม สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ควรจะนำความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และครอบครัว ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เลือกคนที่ดีที่สุด และคาดว่าจะนำพา ประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขได้ มากกว่าการคล้อยตามกระแสข้อมูลข่าวสาร ที่ได้รับรู้รับทราบจากการพาดหัวข่าว หรือภาพที่ปรากฎ ผ่านหน้าจอทีวี ในช่วง เดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถ้า โพลล์ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วทำโพลล์ไปเพื่ออะไร ดร.นพดล กล่าวตอบว่า ถ้าไม่มีการทำโพลล์ เวลาที่เราเปิดทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ พื้นที่ข่าวของการให้สัมภาษณ์เกือบร้อยละ 100 จะเป็นเสียงของคนเฉพาะกลุ่ม ที่ต่างประเทศ เรียกว่าพวกอีลิท (Elite) หรือคนที่เป็นชนชั้นนำของสังคม เช่น นักการเมือง กลุ่มนายทุน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ส่วนใหญ่ มักจะมีผลประโยน์อยู่เบื้องหลัง ถ้าสื่อมวลชน จะไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน ก็มักจะไปแบบเฉพาะเจาะจง หรือตามสะดวก แต่การทำโพลล์เป็นการไปซ้อนเสียงโดยตรงของประชาชนทุกชนชั้น ผ่านระเบียบวิธีวิจัย เพื่อสร้างความสมดุลย์ ในสังคมข้อมูลข่าวสาร ไม่ปล่อยให้อภิสิทธิ์ชน คอยชี้นำสังคมเพียงแต่กลุ่มเดียว
“เอแบคโพลล์มีความมั่นใจว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก คือ ข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และประการที่สอง คือ นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนที่ร่วมทำงาน Exit Poll จะได้รับค่าตอบแทนเป็นทุนการศึกษา เพิ่มรายได้ให้กับบุตรหลาน ของผู้ปกครอง ในการทำวิจัยครั้งนี้ ทั้งนี้เราขอยืนยันว่าพวกเราทำงานด้านนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องการทำโพลล์ให้เป็นต้นแบบที่ดีตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ส่วนความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป” ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว