จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม ได้มีการเชิญกระทรวงพลังงาน โดยนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าชี้แจงกรณีอุบัติเหตุเรือที่รับหน้าที่วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งปลาทอง 2 ได้วางสมอเรือไปเกี่ยวเข้ากับระบบท่อก๊าซบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อก๊าซเส้นที่ 1 และท่อกิ่งของแหล่งก๊าซปลาทอง ซึ่งส่งผลให้ระบบท่อได้รับความเสียหายและเกิดรอยรั่ว
นายณอคุณ ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า เพื่อความปลอดภัยและการตรวจสอบความเสียหายโดยละเอียด กระทรวงพลังงานได้สั่งให้ระงับการใช้ท่อเส้นที่ 1 ที่มีกำลังการส่งก๊าซ 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลลบ.ฟ.)ต่อวัน ซึ่งส่งผลต่อการจ่ายก๊าซเข้าระบบในปริมาณเดียวกัน รวมถึงได้สั่งให้มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านเชื้อเพลิงใน 3 วิธี ได้แก่ การเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงก๊าซจากแหล่งที่ส่งเข้าท่อเส้นที่ 1 ไปยังท่อเส้นที่ 2 และ 3 สำหรับแหล่งที่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ในปริมาณ 150-200 ลลบ.ฟ.ต่อวัน การลดปริมาณการจ่ายก๊าซธรรมชาติเข้าโรงแยกก๊าซฯ 240 ลลบ.ฟ.ต่อวัน และการเพิ่มปริมาณการจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จาก 140 ลลบ.ฟ.ต่อวันเป็น 300 ลลบ.ฟ.ต่อวัน แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ยังทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในระบบยังขาดหายไปอีก 250-300 ลลบ.ฟ.ต่อวัน
ปลัดกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงด้วยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบจากปริมาณก๊าซฯสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศที่ลดลงในปริมาณ 250-300 ลลบ.ฟ.ต่อวัน คือ การเตรียมส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้าเพื่อใช้แทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี 1.8 ล้านลิตรต่อวัน และจะทยอยปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน โรงไฟฟ้ากระบี่เฉลี่ย 1 ล้านลิตรต่อวัน โรงไฟฟ้าพระนครใต้รวม 40 ล้านลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้าบางปะกง 5 ล้านลิตรต่อวัน รวมถึงการเพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำโดยเฉพาะจากเขื่อนรัชชประภา น้ำงึม 2 และน้ำเทิน 2 และการเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 10 และโรงไฟฟ้าความร้อนร่มราชบุรีชุดที่ 2 ออกไปก่อน รวมทั้งได้มีการสั่งการให้ ปตท. จัดหาน้ำมันเตากัมมะถัน 0.5% ปริมาณ 30 ล้านลิตร เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำรองสำหรับโรงไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบเรื่องปริมาณก๊าซธรรมชาติด้วย
ทั้งนี้ นายณอคุณได้ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี ด้วยว่า การบริหารจัดการดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และก๊าซปิโตเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเป็นประเด็นที่ครม.ได้ตั้งข้อเป็นห่วงและสั่งการให้ระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยปลัดกระทรวงพลังงานได้รับนโยบายเพื่อไปหารือร่วมกับ บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์และผลกระทบกรณีท่อก๊าซรั่วหรือวอร์รูมขึ้น เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์ล่าสุดอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายของระบบท่อซึ่งคาดว่าจะทราบผลโดยละเอียดในช่วงเย็นวันอังคารที่ 28 มิ.ย. และจะมีการประชุมเพื่อประเมินรูปแบบการจัดการปัญหาอีกครั้งในวันพุธที่ 29 มิถุนายน เวลา 15.00 น. ณ กระทรวงพลังงาน