รองศาสตราจารย์ วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานกรรมการจัดประชุมวิชชาการ “๑ ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ” กล่าวถึงวาระครบรอบสิบปี (ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔) ที่มีการนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพมาใช้เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพอย่างกว้างขวาง กระทั่งก่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับ “กระบวนการนโยบายสาธารณะ” ให้เป็น “นโยบายสาธารณะสุขเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” มาเป็นลำดับ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้ให้ความหมายของ “สมัชชาสุขภาพ” ว่าเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมี “สุขภาพ” ของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม
สมัชชาสุขภาพ ประกอบด้วย ๓ รูปแบบ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่โดดเด่นอันเกิดจากดอกผลจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น
นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเฉพาะพื้นที่ อาทิ นโยบายด้านเกษตรปลอดภัย จังหวัดพิจิตร ข้อบัญญัติ อบต.ท่าศาลาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช นโยบายด้านอาหารปลอดภัย จังหวัดน่าน นโยบายการแก้ปัญหาสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชน จังหวัดสกลนคร นโยบายด้านการจัดการสุขภาพระดับท้องถิ่น จังหวัดสงขลา นโยบายด้านพันธุกรรมการพืชท้องถิ่นกับความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดชุมพร นโยบายด้านข้าวกับสุขภาวะเกษตรกร จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเฉพาะประเด็น เช่น แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ…….แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) และ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย ฉบับที่ ๒ เป็นต้น
นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในระดับชาติ (พ.ศ.๒๕๕๑ — ๒๕๕๓ จำนวน ๓๐ ประเด็นนโยบาย) อาทิ นโยบายการเข้าถึงยาของประชากรไทย นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่พหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายการเจรจาการค้าเสรี ยุทธศาสตร์ในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม: เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการ มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบ เป็นต้น
ความสำเร็จของกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี จะได้รับการถ่ายทอด นำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างประชาชน ภาครัฐ และนักวิชาการ ในการประชุมวิชชาการ “๑ ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ” วันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว โดยผู้สนใจสามารถติดตามรับชมและรับฟังผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ www.healthstation.in.th