นายจิราบริรักษ์ เจริญภัทรปรีดา หรือ น้องกอล์ฟ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เจ้าของเหรียญเงินจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว น้องกอล์ฟชอบเรียนวิชาเคมี โดยเฉพาะการทำ Lab ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนมาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงมีอะไรบ้าง เวลาเรียนในห้องถ้าไม่เข้าใจก็จะถามอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียนหรือค้นคว้าเพิ่มเติม
นอกจากจะเรียนเก่งแล้ว หนุ่มน้อยคนนี้ยังแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่ให้แก่เพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียนด้วย โดยเล่าว่า “ผมเป็นวิทยากรประจำอยู่ที่โรงเรียนคอยติวรุ่นน้องครับ บางทีก็เปิดติวสั้นๆ ให้เพื่อนด้วย รู้สึกสนุกกับการสอน เป็นความรู้สึกที่ดีที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น และอนาคตอยากทำงานเป็นอาจารย์” สำหรับการเตรียมตัวสู่การแข่งขันว่า มีการทบทวนเน้นการทำโจทย์เป็นหลักและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
นายธนวัฒน์ อรรถชัยพานิช หรือ น้องเบิร์ด นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ. นครปฐม เป็นหัวหน้าโครงการพี่ช่วยน้องในสาขาเคมีของโรงเรียน บอกว่า การตั้งใจเรียนดีอย่างมีความสุขควรเรียนแบบเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ เตรียมตัวก่อนเรียน เรียนแล้วกลับไปทบทวนจะช่วยให้เข้าใจ
น้องเบิร์ดเผยว่า “ชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถม โดยเฉพาะชั่วโมงที่มีการทดลองจะตื่นเต้นที่ได้เห็นอะไรแปลกใหม่ พอได้เข้าค่ายของมูลนิธิ สอวน. ก็ยิ่งรู้สึกชอบวิชาเคมี มีอะไรให้เรียนรู้อยู่เสมอ” พร้อมกับเล่าว่าครอบครัวมีส่วนช่วยในการเรียนมาก ทั้งกำลังใจที่มีให้ และอีกหลายๆ อย่าง ในอนาคตอยากเป็นแพทย์
นายธรรศ อยู่สุนทร หรือ น้องแม็กซ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้มาถึงจุดนี้ว่า ตอนเด็ก ๆ ได้เห็นผู้ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยแล้วคิดว่าเท่ จึงได้ศึกษาวิชาเคมีซึ่งเป็นวิชาที่น่าสนใจ จนมาถึงจุดนี้ น้องแม็กซ์ชอบเรียนLab เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ฝึกคิด เนื่องจากการเรียน Lab แตกต่างกับการเรียนทฤษฎีโดยสิ้นเชิง จะมีความประหลาดใจทุกครั้งที่ลงมือทำ
“ถ้ารู้สึกว่าเครียดเรื่องเรียน ก็จะอ่านหนังสือไปร้องเพลงไปเป็นการคลายเครียด แต่จริงๆแล้ว สำหรับผมการได้เรียนเคมีก็ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนี่ง” อนาคตอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ให้เด็กไทยได้รับความรู้อย่างเต็มที่
หนุ่มน้อยคนสุดท้าย นายบุญยเกียรติ ธรรมเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน. ปี 2552 รางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สอวน. ปี 2551 และรางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันเคมีโอลิมปิก สสวท. ปี 2551