ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และบริการจัดการทางการเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้พัฒนารูปแบบบัตรสถาบันหรือบัตร IPAC (Institute Pre ATM Card) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักศึกษาและบุคลากรในสถาบัน นอกเหนือจากเป็นบัตรประจำตัวนักศึกษา บุคลากร และบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มแล้ว ยังได้เพิ่มบริการบัตรกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (KTB e-Money) โดยนำนวัตกรรมไร้สัมผัส (Contactless Chip Card ) มาให้บริการเป็นธนาคารแห่งแรก
“ในปีการศึกษา 2554 ธนาคารได้ออกบัตร IPAC ภายใต้ชื่อ KTB — TU Cash Card ให้กับนักศึกษาชั้น ปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าใช้จ่ายและค่าบริการต่างๆ ภายในสถาบัน เช่น ชำระค่าสินค้าที่ร้านสหกรณ์ ค่าสมาชิกห้องสมุด และค่ารักษาพยาบาล ในส่วนของมหาวิทยาลัย สามารถใช้ข้อมูลนักศึกษาหรือบุคลากรในบัตร เพื่อการบริหารจัดการภายใน เช่น การบันทึกข้อมูลการใช้ห้องสมุดและใช้เป็นบัตรรูดเข้า-ออกหอพักในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล กล่าวต่อไปว่า การใช้บัตรในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อชำระค่าใช้จ่ายและบริการต่างๆ นั้น นักศึกษาเพียงแตะบัตรที่เครื่อง EDC ณ จุดบริการภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 4 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตรังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง และพัทยา รวมทั้งสิ้น 30 จุด และสามารถเติมเงินสำรองในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ที่สาขาของธนาคารภายในมหาวิทยาลัย หรือสาขาใกล้เคียง บริการ KTB online บริการ KTB Online @ Mobile รวมทั้งเครื่องกรุงไทยเอทีเอ็มอีกกว่า 7,200 เครื่องทั่วประเทศ
อนึ่ง ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีฐานลูกค้าบัตร IPAC กว่า 100 สถาบัน จำนวนนักศึกษาที่ใช้บริการกว่า 300,000 ราย โดยธนาคารตั้งเป้าขยายการให้บริการไปยังสถาบันการศึกษาชั้นนำอื่นๆ ทั่วประเทศ