1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย “อุตรดิตถ์โมเดล” เติมพลังความรู้ เพิ่มศักยภาพชุมชน สร้างสังคมสุขภาวะ

พฤหัส ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๔:๕๖
เมื่อระบบการศึกษาของไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ได้ยึดเอาวิชาความรู้ด้านวิชาการเป็นตัวตั้ง จึงทำให้กลายเป็นระบบการศึกษาที่ตัดขาดจากรากเหง้าของตัวเอง ให้ห่างจากชีวิตจริง และสังคมไทยที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมไทย

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อเรื่อง "มหาวิทยาลัย..พลังแก้วิกฤติชาติ" ภายในงาน "1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด: อุตรดิตถ์โมเดล สู่การพัฒนาท่าเหนือเมืองน่าอยู่ " ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลแนวคิด “อุตรดิตถ์โมเดล” ตอนหนึ่งว่า ในขณะที่สังคมได้วิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ระบบการศึกษาที่ลอยตัวจากความเป็นจริงจะไม่สามารถสร้างสติปัญญาให้สังคมไทยได้เพียงพอที่จะรักษาบูรณภาพและดุลภาพในตัวเองได้

“การสูญเสียสิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่วิกฤตการณ์ของการศึกษา รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ของประเทศ โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการปฏิรูปแนวคิดและระบบการศึกษา จากการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแทน ซึ่งพื้นที่ในที่นี้ก็คือ ความเป็นจริงของชีวิต การอยู่ร่วมกัน ทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์กร สถาบันต่างๆ มาเรียนรู้ร่วมกันในเชิงปฏิบัติ ซึ่งก็จะทำให้เกิดพลัง เกิดจิตสำนึก เกิดการพัฒนาที่แท้จริง เมื่อพื้นที่ในทุกจังหวัดมีอย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน ฐานของประเทศไทยก็จะแข็งแรง มั่นคงและยั่งยืน” อาจารย์ประเวศระบุ

รศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา หัวน้าโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า อุตรดิตถ์โมเดลเป็นการทำงานในลักษณะที่มีภาควิชาการเข้าไปเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับองค์กรภาคีในพื้นที่ทุกภาค ให้เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน มีการสร้างองค์ความรู้ จัดการทำแผนวิจัยเพื่อให้สนองยุทธศาสตร์ของจังหวัด และเชื่อมโยงงานวิจัยไม่เฉพาะแค่ของมหาวิทยาลัย แต่บูรณาการกับภาคีเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะไปตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ “อุตรดิตถ์เพื่อคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สัมพันธ์พื้นบ้านยั่งยืน”

“การผนึกกำลังกันอย่างที่ทำอยู่ถ้ายิ่งได้การสนับสนุนเชิงนโยบายจากทุกระดับ ให้มีเครือข่ายสานพลังกัน ไม่ซ้ำซ้อนต่างคนต่างทำ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อไปก็ขยายไปเต็มพื้นที่ แล้วก็ยังมาแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ กัน เกิดการยกระดับสั่งสมองค์ความรู้ มีความแกร่ง มีพลังในการที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะทำได้มากขึ้น” อาจารย์ฉัตรนภากล่าว

ดังตัวอย่างการเข้าไปร่วมกับชาวบ้านใน “ตำบลป่าเซ่า” ประกอบอาชีพหลักคือ “การเลี้ยงวัว” จำนวนมากกว่า 800 ตัว ซึ่งก่อให้เกิด “ขี้วัว” จำนวนมากสร้างปัญหาด้านต่างๆ กลิ่นและภาพที่ไม่สวยงามที่เกิดขึ้นในชุมชน ทาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ จึงได้เข้าไปศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่ร่วมกับชุมชน โดยทางออกของปัญหาจึงมาสรุปที่ “ก๊าซชีวภาพ” และ “ปุ๋ยขี้วัว” พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “วิทยาลัยวัว” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนโดยใช้วัวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับอาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน

ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย หัวหน้าคณะทำงานเปิดเผยว่า ในแต่ละวันวัว 1 ตัวจะก่อให้เกิดขี้วัวจำนวนมากถึง 6 กิโลกรัม เมื่อก่อนชาวบ้านก็จะแก้ปัญหาด้วยการนำมาตากแห้งขายทำปุ๋ย แต่เมื่อเราเข้ามาคิดหาทางออกร่วมกันก็พบว่าขี้วัวนั้นมีประโยชน์ต่อชุมชนแห่งนี้มากกว่าที่คิด

“เราจึงนำขี้วัวมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านลดรายจ่ายแต่ละเดือนในเรื่องของค่าก๊าซหุงต้มลงไปได้ 100-150 บาทต่อเดือน ของเสียที่เหลือจากการผลิตก๊าซก็ยังนำมาผลิตเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดีได้ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้ในการปลูกข้าว ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ บางรายที่ไม่ได้ทำนาก็ยังสามารถส่งขายให้กับธนาคารปุ๋ยสร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันมีชาวบ้านที่เห็นความสำคัญและหันมาใช้ก๊าซชีวภาพจำนวน 18 ครัวเรือน และกำลังขยายผลออกไปสู่ครัวเรือนอื่นๆ ที่เหลือ” อาจารย์เจษฏากล่าว

หรือที่ “ตำบลหาดสองแคว” ที่ทาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เข้าไปช่วยชุมชนแก้ปัญหาในการจัดการ “ขยะ” โดยจับมือกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เริ่มจากการปลูกฝังแนวคิด “ลดขยะในครัวเรือน” จนทำให้เกิดการ “พัฒนาคน” แล้วต่อยอดขยายผลไปสู่การทำ “เกษตรอินทรีย์” ของชุมชน จนทำให้ตำบลแห่งนี้ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการจัดการขยะถึง 6 ปีติดต่อกัน

นายสถิต เม่นแต้ม แกนนำชาวบ้านหาดสองแควเปิดเผยว่า ทางชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์หาวิธีการแก้ปัญหามลพิษจากขยะในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยใช้ขยะสร้างคนในชุมชนให้มีส่วนร่วม มีความคิดในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

“จากการแก้ปัญหาเรื่องขยะ เมื่อคนในชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะ ก็เกิดเป็นธนาคารขยะสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ขยะเศษอาหารก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งจากจุดเริ่มต้นคือเรื่องของขยะได้ขยายผลออกไปสู่การส่งเสริมให้คนในชุมชนทำนาด้วยการลดต้นทุนการผลิต ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ โดยปัจจุบันมีโรงปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 13 โรงในชุมชน มีแปลงปลูกข้าวอินทรีย์รวมกันกว่า 454 ไร่ ผลผลิตที่ได้ยังมีชาวต่างชาติมารับซื้อถึงในชุมชนเพื่อส่งขายยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงถึงตันละ 18,360 บาท” นายสถิตย์กล่าว

ทันตแพทย์กฤษฎา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า อุตรดิตถ์โมเดล เป็นรูปแบบการทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิถ์ร่วมกับภาคีภาครัฐและชุมชนในการร่วมกันพัฒนาและสร้างสุขภาวะให้กับคนในพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนน่าอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามทำงานในเรื่องนี้กันมาก แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายังไม่สามารถจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือว่าการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรได้ เพราะสิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือเรื่องขององค์ความรู้

“ที่อุตรดิตถ์เห็นได้ชัดว่าปัญหาหลักของพื้นที่คือเรื่องปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร มหาวิทยาลัยจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากโดยมีอาจารย์มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ลงไปทำงานกับชุมชน ซึ่งทำให้รู้ปัญหาในพื้นที่จริงๆ นำองค์ความรู้ที่เป็นสากลเข้าไปปรับปรุงกับพื้นที่ได้ พอทำแล้วก็เกิดผลทันทีเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สสส. หวังว่าโมเดลแบบนี้จะถูกขยายผลแนวคิดไปออกไป โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือมหาวิทยาลัยมีความคิดและพร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมแล้วหรือยัง ซึ่งก็จะไปตรงกับแนวคิดเรื่องหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ถ้าสิ่งเกิดขึ้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล” ผู้จัดการ สสส. กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม