เช่นเดียวกับที่ โรงเรียนวัดโพทะเล อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน ประกอบกับทั้งพ่อและแม่ต้องไปทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัด หลายคนต้องอยู่กับปู่ยาตายายหรือญาติ ทำให้ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยมีเด็กฟันผุสูงถึงกว่าร้อยละ 20 มีปัญหาด้านโภชนาการร้อยละ 18.79 ขาดความรู้และความเข้าใจในการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะสูงกว่าร้อยละ 70 นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของการบริโภคสื่อสมัยใหม่ที่ไม่เหมาะสม ปัญหาด้านศีลธรรมและจริยธรรม รวมถึงปัญหาด้านอบายมุขและยาเสพติด ที่ส่งผลให้เยาวชนในพื้นที่ดำเนินชีวิตไปในทางที่ไม่เหมาะสม
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางคณะผู้บริหารและครูของโรงเรียนวัดโพทะเลจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “สุขภาพเก้าหน้าด้วยเก้ากิจกรรม” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นในทุกมิติ และมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตได้ในสังคมอย่างมีความสุข โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายประเสริฐ กลิ่นหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพทะเล และหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่าจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ถ้าหากปล่อยไว้จะขยายกลายเป็นปัญหาต่างๆ ของสังคมเกิดขึ้นตามมาจึงได้จัดให้มีกิจกรรมทั้ง 9 กิจกรรมขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในด้านต่างๆ ของเด็ก
“ในฐานที่เราอยู่ในระบบการศึกษา เราเป็นครู เด็กก็เปรียบเสมือนผ้าขาว ถ้าเราฝึกเขาอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น แต่เราปล่อยปละละเลย ไม่คิดทำสิ่งเหล่านี้ในอนาคตสังคมก็จะวุ่นวายและมีปัญหามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญถ้าเด็กมีสุขภาพดี ผลการเรียนต่างๆ ก็จะดีตามไปด้วย ภาระของผู้ปกครองก็เบาลง ถึงแม้ครูทุกคนจะต้องเหนื่อยเพิ่มมากขึ้นจากภาระการเรียนการสอนตามปกติ แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่าเพราะตัวของครูเองก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวลูกศิษย์ของตนด้วย” ผอ.ประเสริฐกล่าว
โดยกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 9 กิจกรรมประกอบไปด้วย กิจกรรมเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจคุณธรรม โดยร่วมกับวัดโพทะเลปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก, กิจกรรมกีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ ให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการออกกำลังกายสร้างความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมแอโรบิกเพื่อสุขภาพ, กิจกรรมยิ้มหวานฟันสวย เพื่อให้มีสุขภาพในช่องปากที่ดีด้วยการณรงค์ให้นักเรียนทุกระดับชั้นร่วมกันแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน, กิจกรรมเด็กไทยห่างไกลจากอบายมุขและยาเสติด, กิจกรรมร้านค้าสะอาดอาหารปลอดภัยและมีคุณค่า เพื่อให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และ กิจกรรมอาคารและสิ่งแวดล้อมสะอาดปราศจากมลพิษ ที่กระตุ้นให้นักเรียนร่วมกันดูแลสถานที่ให้สะอาดปลอดภัยเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี
โดยยังมีอีกสองกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นและสอดแทรกสาระความรู้ในด้านต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของสุขภาพให้กับนักเรียนได้อย่างต่อเนื่องนั่นก็คือ “กิจกรรมสื่อสีขาว” ที่มุ่งเน้นให้เด็กรู้จักการบริโภคสื่ออย่างถูกต้อง และร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อขยายความรู้ออกไปสู่เพื่อนๆ ผ่าน “หนังสือพิมพ์จิ๋ว” ที่เหล่าบรรดาดีเจรุ่นเยาว์จาก “กิจกรรมดีเจน้อย” จะหยิบยกความรู้ต่างๆ จากสื่อเหล่านี้มาบอกเล่าผ่านเสียงตามสายช่วยกระจายความรู้ออกไปสู่สมาชิกทุกคนในโรงเรียนเป็นประจำทุกวันตั้งแต่เวลา 11.30-11.45 น.
นางจิราภัทร สายสุจริต ครูผู้ดูแลกิจกรรมหนังสือพิมพ์จิ๋วและดีเจน้อยกล่าวว่า กิจกรรมนี้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก กระตุ้นให้เกิดความใฝ่รู้หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และยังได้รู้จักวิธีการแยกแยะกลั่นกรองข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
“เด็กๆ ก็จะเกิดความเข้าใจ เพราะได้เห็นได้อ่านได้ตรวจทานและลงมือทำเองทั้งหมด โดยแกนนำจะรวบรวมข้อมูลจากน้องๆ แล้วส่งให้รุ่นพี่ตรวจสอบคัดเลือกเนื้อหาและจัดหน้า โดยยังทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันกว่า 30 ฉบับ โดยแต่ละฉบับแจกให้กับนักเรียนในทุกๆ ห้องให้ได้อ่าน” ครูจิราภัทรกล่าว
นายพรประเสริฐ บางหลวง หรือ “น้องเพชร” นักเรียนชั้น ม.3 แกนนำผู้ผลิตหนังสือพิมพ์จิ๋วและกิจกรรมดีเจน้อยเล่าให้ฟังว่า เนื้อหาที่ตนเองจะนำมาพูดคุยในช่วงพักกลางวันจะเป็นสาระความรู้รอบตัว เหตุการณ์ในปัจจุบัน และเรื่องราวด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยค้นคว้ามาจากอินเตอร์เน็ตและห้องสมุด
“การทำหนังสือพิมพ์จิ๋วและการเป็นดีเจน้อยทำให้เราได้รับความรู้มากมายจากการไปค้นคว้าหาเรื่องราวต่างๆ มาบอกเล่าให้กับเพื่อนๆ และยังได้ฝึกการพูดอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง” น้องเพชรกล่าว
ทางด้าน นางสาวณัฐฐาพร มณี หรือ “น้องฟ้า” นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่าตนเองมีความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวจึงมักจะค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มาแนะนำให้กับเพื่อนๆ ได้ฟัง
“การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น และยังรู้สึกสนุกที่ได้ค้นหาได้พูดคุยเล่าเรื่องใหม่ๆ ให้เพื่อนได้ฟัง ทำให้เรากล้าแสดงออกกล้าพูดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน” น้องฟ้ากล่าว
ส่วนดีเจน้อยที่รับหน้าที่หาข้อมูลด้านสุขภาพอย่าง “น้องสุ” หรือ นางสาวสุกัญญา คำแก้ว นักเรียนชั้น ม.3 บอกว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ที่จะนำมาเล่าให้เพื่อนฟังจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เช่นในบางวันก็จะมีการแนะอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ
“อย่างเช่นแกงเลียง ซึ่งประกอบไปด้วยผักหลากชนิดทำให้มีวิตามินต่างๆ มากมายหากน้องๆ ได้ทานแล้วก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือบางครั้งก็จะแนะนำการรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ การใช้ช้อนกลางเพื่อสุขอนามัย หรือวิธีการป้องกันตัวจากโรคต่างๆ เอาความรู้เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง” น้องสุกล่าว
“กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อระบบการเรียนการสอนของเด็ก เพราะเป็นความรู้ที่ถูกนำไปปฏิบัติจริง อย่างน้อยก็จะเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอด เป็นพฤติกรรมในการใช้ชีวิตให้ถูกต้องเพราะเด็กหลายคนอาจจะไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงๆ เนื่องจากส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แต่ความรู้ที่ได้รับจะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ปลอดโรค และมีสุขภาพที่แข็งแรง และเมื่อจบออกไปแล้วให้เขาสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข” หัวหน้าโครงการฯกล่าวสรุป.