ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ป.กก.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่ได้มีการก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(กก.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 9 ปี โดยให้ กก. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กีฬา การศึกษาด้านการกีฬา และนันทนาการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการบริหารยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและกีฬา ให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ และในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ประกอบกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงจัดกิจกรรมพิเศษด้านการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นเป็นครั้งแรก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดฯ เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อจัดแสดงผลงานและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มีคุณค่าด้านการท่องเที่ยวและกีฬาไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเพื่อแสดงแนวนโยบาย/ความต้องการของภาครัฐและเอกชนด้านการท่องเที่ยวและกีฬา และการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยจัดขึ้น ณ Hall 3 อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 15-17 กรกฏาคม 2554 ระหว่างเวลา 10.00-21.00 น. มีแนวคิดในลักษณะ 3 S. (Smile-ท่องเที่ยวและกีฬาทำให้ทุกคนยิ้มอย่างมีความสุข, Smart-กีฬา, Sabuy-ท่องเที่ยว) จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว นักกีฬา เยาวชน และประชาชนทั่วไป เยี่ยมชมงานเฉลิมพระเกียรติฯ ชมนิทรรศการ การแสดงต่างๆและจับจ่ายซื้อของที่ระลึก ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จากทั่วประเทศ จำนวน 77 จังหวัด รวมทั้งหน่วยงานของกก. มีสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว กรมพลศึกษา สถาบันการพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว
ทั้งนี้แนวนโยบายด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ในด้านการท่องเที่ยว โดยอาศัยหลักการบริหารจัดการ(Management Method) ที่เกี่ยวข้องหลักๆ ดังนี้
1) ด้านทรัพยากรมนุษย์(Man)
- ต้องการให้มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการ ก่อนการเปิดเสรีอาเซียน(AEC) ในปี 2558 อย่างจริงจัง ในลักษณะของการทำงานเชิงบูรณาการของทีมไทยแลนด์ จากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย
- ต้องการการเพิ่มอัตรากำลังคน ในการทำงานควบคุม ดูแล บริการ และสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับอัตราสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง/รวดเร็วในทุกๆปี โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดทั่วประเทศ กรมการท่องเที่ยว และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว
- ต้องการให้มีการสร้างภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงการทำงาน และมีกรอบความร่วมมือในระดับต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ นานาชาติ และระดับโลกอย่างต่อเนื่องในการท่องเที่ยวและบริการ อาทิ GMS, BIMTEC,IMT-GT, ASEAN, UNWTO, etc.
2) ด้านทรัพยากรผลิตภัณฑ์/วัตถุดิบ(Material)
- ต้องการให้มีการพัฒนา/ส่งเสริม แหล่งท่องเที่ยว และสินค้า/บริการทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ(New Products) ช่วงปี 2555-57 ใน 8 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 2)กลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 3)กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 4) กลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง 5)กลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง 6) กลุ่มท่องเที่ยว Active Beach 7)กลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast 8)กลุ่มท่องเที่ยวมหัศจรรย์สองสมุทร ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิบัติตามแผนดังกล่าว จะทำให้แหล่งท่องเที่ยว และสินค้า/บริการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล รองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่สร้างนักท่องเที่ยวคุณภาพ อาทิ MICE, Medical Tourism เป็นต้น
- ต้องการให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมและยึดปฏิบัติตามแนวทางของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 อย่างจริงจัง และเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกัน ในการพัฒนา/ปรับปรุง และสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว มีความหลากหลาย(Variety) อย่างคุ้มค่าทางการเงิน(Value for money)ในสายตานักท่องเที่ยว และมีมาตรฐานการท่องเที่ยวและบริการระดับ World Class
3) ด้านทรัพยากรงบประมาณ(Money)
- ต้องการให้มีการบริหาร ควบคุม และตรวจสอบ การใช้งบประมาณด้านการท่องเที่ยวของประเทศของทุกหน่วยงาน ทั้งสว่นกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เชิงบูรณาการ อย่างคุ้มค่า ตรงประเด็น ถูกวิธี ถูกต้อง และสอดคล้องกับนโยบายในภาพรวม มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลัก ในการพิจารณา ตรวจสอบ ประเมินผล และติดตาม ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องตามพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551
- ต้องการให้มีการผลักดันงบประมาณดำเนินการ ตามแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปี 2555-57 อันจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระดับนานาชาติ
- ต้องการให้เพิ่มงบประจำปีของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปีละประมาณ20,000 ล้านบาท ให้เป็นปีประมาณ 100,000 ล้านบาท จะส่งผลในสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่ชาติ ในลักษณะควบคู่กับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยกว่า 30 ล้านคน/ปี และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่าล้านล้านบาท ในปี 2558 ต่อไป
4) ด้านทรัพยากรวิธีการ/การจัดการ(Method)
- ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญการท่องเที่ยวเป็นนโยบายอันดับแรก โดยมีการผลักดันและบังคับใช้ การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2558 โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และมีการบังคับบัญชาด้วยตนเอง ตลอดจนกำหนดให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถือเป็นกระทรวง 1 ใน 5 ที่รัฐบาลให้ศักยภาพที่ดี และให้การบริหารงานที่เป็นเลิศของรัฐบาลชุดใหม่
- ต้องการให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวและบริการ ให้เป็นเอกภาพมากยิ่ง ภายใต้การบริหารจัดการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ว่าองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ(สสปน.) เป็นต้น
- ต้องการผลักดันให้ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองทองฟ้าอมร ด้านการท่องเที่ยวและกีฬาของโลก (จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ประกาศให้กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองน่าเที่ยวมากที่สุดในโลก ประจำปี 2554) โดยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และสินค้า/บริการท่องเที่ยวทั่วไทยจากภาคต่างๆ อีกทั้งมีการจัด Event และ Festival ตลอดทั้งปี อาทิ แฟชั่นแฟร์ เทศกาลอาหารไทย เทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น เชื่อมกับหัวเมืองท่องเที่ยวหลักและรอง อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา เป็นต้น เพื่อร่วมกันสร้าง World Destination ให้มีทั่วไทยในสายตานักท่องเที่ยวโลก และตลอดทั้งปีทุกฤดูกาล
- ต้องการให้มีการปฎิรูป และปรับปรุงกฏหมาย กฎระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวและบริการ ในลักษณะเบ็ดเสร็จ(One Stop Service) ในการให้บริการและสามารถแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวและบริการอย่างเป็นระบบ ทันท่วงที และอยู่ในอำนาจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อาทิ พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551-ที่ไม่ครอบคลุมเรื่องสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง กฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม —ที่ค่อนข้างไม่สอดคล้อง การปฏิบัติงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยและงานด้านการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กฏหมายการตรวจคนเข้าเมือง-ในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางการเดินทางท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย เป็นต้น
- ต้องการการบูรณาการและทำงานเป็นทีมด้านท่องเที่ยวของชาติไทย ในลักษณะเบ็ดเสร็จ(One Stop Service)อย่างเป็นรูปธรรม ในการพัฒนาและแก้ไขในทุกด้าน ตั้งแต่การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องมีช่องทางเพิ่มมากขึ้นทั้งทางอากาศ ทางเรือ ทางบก โดยเฉพาะต้องมีสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานโลก เทียบเท่าสนามบินสุวรรณภูมิทุกภูมิภาคของไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีสินค้าท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีการบริการที่เป็นเลิศและดีที่สุดในโลก และมีเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยค่อนข้างสูงในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ภายใต้การผลักดันและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวอีก 20 ปีข้างหน้าร่วมกันของทุกหน่วยงาน
ป.กก. กล่าวปิดท้ายว่า แนวนโยบายและการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้ได้จำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวต่างชาติ จำนวน 30 ล้านคน และรายได้จาการท่องเที่ยวและบริการ จำนวน ล้านล้านบาท ในปี 2558 นั้น จะต้องดำเนินงานให้สอดรับกันและส่งเสริมกัน มีการเตรียมแผนงานต่างๆที่ชัดเจน และมีงบประมาณที่สอดรับกับนโยบายและเป้าหมายในปี 2558 อย่างต่อเนื่อง โดยมีดำเนินการวางแผนเชิงปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอด องค์ความรู้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมบุคลากร/งบประมาณ ในการดูแลนักท่องเที่ยว/บำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว ทั้งระยะสั้น/ระยะยาว การจัดEvent /Festival ให้ต่อเนื่อง และจะต้องเริ่มตรียมตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้จะเกิดเป็นความยั่งยืน และความคุ้มค่าจากการลงทุนของรัฐบาล ในการพัฒนา/ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ทั้งตลาดท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ โดยการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ ไปสู่ตลาดอาเซียน ในปี 2558 และในระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติในเวทีโลกต่อไป