ชำแหละเอ็กซิทโพลล์: แท้หรือเทียม

ศุกร์ ๐๘ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๐:๒๙
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเวทีให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบการทำเอ็กซิทโพลล์ของเอแบคว่า แท้หรือเทียม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นผู้วิพากษ์

ดร.นพดล กล่าวว่า การเปิดเวทีให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบการทำเอ็กซิทโพลล์ครั้งนี้มีสาระสำคัญสามประการคือ ประการแรก เปิดเผยให้เห็นเอกสารหลักฐานแสดงขั้นตอนการทำเอ็กซิทโพลล์ของเอแบคว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรจนถึงขั้นตอนการประมวลผล ประการที่สอง ประเมินผลเอ็กซิทโพลล์ตามหลักของการตรวจข้อสอบเป็นรายเขตเลือกตั้ง ประการที่สาม คือการเปิดเผยสาเหตุของความคลาดเคลื่อนในผลโพลล์

“ขั้นตอนของการทำเอ็กซิทโพลล์ของเอแบคเริ่มจากการทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานทั้งสองว่า “สามารถทำเอ็กซิทโพลล์ได้” ขั้นตอนที่สองใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนรับสมัครและฝึกอบรมพนักงานเก็บข้อมูลกว่าหนึ่งหมื่นคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศโดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการมีส่วนร่วมเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยและการทำโพลล์ ขั้นตอนที่สาม ติดต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และเขตเลือกตั้งทุกเขตเพื่อขอฐานข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง ขั้นตอนที่สี่ สุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้งและคำนวณสูตรทางสถิติกำหนดจำนวนคนตอบแบบสอบถามและคัดเลือกตัวอย่าง ขั้นตอนที่ห้า เก็บรวบรวมข้อมูล และประมวลผลข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นภาพรวมและรายเขตเลือกตั้ง” ดร.นพดล กล่าว

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เอแบคโพลล์ได้รับมอบภารกิจให้ทำเอ็กซิทโพลล์ 500 ที่นั่งทั่วประเทศ ซึ่งหลังการเลือกตั้งแล้วตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้งพบว่า ประมาณร้อยละ 93 ที่มีความถูกต้องตรงกับผลการเลือกตั้งจริง เพราะการประเมินที่มองตัวเลขเฉพาะแค่ภาพรวมอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น สำนักโพลล์แห่งหนึ่งทำนายว่า ปชป.จะได้ 5 ที่นั่ง หลายคนก็ให้คะแนนไปแล้วว่าสำนักโพลล์นั้นได้ 5 คะแนน แต่เมื่อไปตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้งพบว่า สำนักโพลล์นั้นที่บอกว่า ปชป. ได้ 5 ที่นั่งกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทยได้ไปทั้งหมด ผลการตรวจสอบจึงถือว่าสำนักโพลล์ลนั้นทำนายผิดทั้งหมดในเรื่องที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นการประเมินผลเอ็กซิทโพลล์ นอกจากมองตัวเลขโดยภาพรวมแล้วต้องทำการประเมินเป็นรายเขตเลือกตั้งเหมือนกับการตรวจข้อสอบทีละข้อ

“ในพื้นที่ กทม. ที่มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะเอแบคโพลล์พบว่า ปชป.จะได้ 9 ที่นั่ง แต่ ปชป.ได้ 23 ที่นั่ง หลังตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้งแล้วพบว่า เอแบคโพลล์ทำนายได้ถูกต้อง 17 ที่นั่ง และผิด 16 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของจำนวนที่นั่ง 500 ที่ทั่วประเทศ แต่เมื่อคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนโดยรวมทั้งประเทศเป็นรายเขตเลือกตั้งจะอยู่บวกลบร้อยละ 7 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด” ดร.นพดล กล่าว

ผอ.เอแบคโพลล์กล่าวต่อว่า เดิมคณะผู้วิจัยกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนของทั้งประเทศไว้ที่ประมาณร้อยละ 3 แต่ที่เกินมาร้อยละ 4 หลังตรวจสอบแล้วพบว่า มาจากสาเหตุที่คณะผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมได้ในทางวิชาการเรียกว่า Non-Sampling Error คือความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตัวอย่าง ในการทำเอ็กซิทโพลล์ครั้งนี้ซึ่งได้แก่ การที่เจ้าหน้าที่รัฐประจำหน่วยเลือกตั้งที่นักเรียนนักศึกษาลงเก็บข้อมูลบอกให้นักเรียนนักศึกษาออกห่างไปจากหน่วยเลือกตั้ง 200 เมตร หรือขนาดความยาวพอๆ กับสนามฟุตบอล ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเก็บข้อมูลจากประชาชนได้ อันดับที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมนักเรียนนักศึกษาทั้งๆ ที่มีบัตรแสดงตน มีจดหมายจาก กกต. และจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันดับที่สาม ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่สามารถอยู่ใกล้หน่วยเลือกตั้งได้มากกว่า นักเรียนนักศึกษาแต่ตามมากดดันนักเรียนนักศึกษาและผู้ตอบแบบสอบถาม

“นักเรียนนักศึกษาฝากคำถามถึงผู้ใหญ่ในสังคมว่า เด็กมั่วสุมก็จับกุม เด็กทำงานด้านการศึกษาก็มาสกัดกั้นแล้วผู้ใหญ่ในสังคมจะให้พวกเราทำอะไร อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ในสังคมกว่าร้อยละ 90 ยังดีอยู่คือให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนนักเรียนนักศึกษาให้ทำงานได้ บางท่านนำอาหารและน้ำดื่ม พาให้หลบฝน จัดสถานที่ให้อย่างดี เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของเอแบคโพลล์ก็จะยังคงมุ่งมั่นเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัยต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ส่วนสาเหตุที่คณะผู้วิจัยและนักเรียนนักศึกษาไม่สามารถควบคุมได้ครั้งนี้ ก็จะขอความช่วยเหลือต่อผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป โดยเบื้องต้นท่านเลขา กกต. ได้กล่าวไว้แล้วว่าในอนาคตจะทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับเขตเลือกตั้งให้อำนวยความสะดวกในระดับหน่วยเลือกตั้งต่อไป ส่วนผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำหนังสือถึงสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศให้อีกด้วย หากช่วยดูแลความปลอดภัยกับนักเรียนนักศึกษาที่ทำงานวิจัยด้วย คณะผู้วิจัยก็เชื่อว่าต่อไปการทำเอ็กซิทโพลล์จะมีคุณภาพใกล้เคียงผลการเลือกตั้งจริงมากยิ่งขึ้น” ดร.นพดล กล่าว

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

โทร. 02-7191546-7

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ