ชาติอาเซียนร่วมผนึกกำลังแก้ปัญหาภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากโรคมะเร็ง

อังคาร ๑๒ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๕๗
มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) จัดการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งประจำภูมิภาคอาเซียน (First ASEAN Cancer Stakeholders Forum) ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค พร้อมเริ่มต้นการศึกษาในระยะที่สองเพื่อมุ่งรวบรวมข้อมูลในด้านภาระทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากโรคมะเร็งใน 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

การเรียกร้องบรรดาผู้นำในภูมิภาคและผู้วางแผนนโยบายให้เริ่มดำเนินการ

ในการปราศรัยครั้งสำคัญในการประชุม ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้ความเห็นว่าการจัดประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งประจำภูมิภาคอาเซียนนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจคนสำคัญจากภาครัฐบาล เหล่าผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในระดับภูมิภาคและนานาประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มารวมตัวกันโดยมีจุดประสงค์ร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและค่าใช้ จ่ายของโรคมะเร็ง

“แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น ในไม่ช้าจะก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจอันมหาศาลและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อทั้งผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยในภูมิภาคอาเซียน จากการที่อัตราการเกิดโรคมะเร็งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมของชาติอาเซียน และกระตุ้นให้มีนโยบายด้านการดูแลสุขภาพเชิงกลยุทธ์ ที่เน้นการควบคุมโรคมะเร็งอย่างจริงจัง นโยบายที่ว่านี้จะต้องรองรับด้วยแผนการป้องกันโรคมะเร็งโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน (evidence-based) ซึ่งได้รับการวางแผนจัดการมาเป็นอย่างดี และได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลของฝ่ายทะเบียนผู้ป่วยและฐานข้อมูลประชากรที่สามารถเชื่อถือได้” ดร.สุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.สุรินทร์ ยังได้เน้นย้ำว่าหากการระบาดของโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียนไม่ได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงทีในขณะนี้ ก็เป็นไปได้ที่โรคมะเร็งจะส่งผลร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขที่ไม่มีการเตรียมตัวที่ดีของภูมิภาคนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจของภูมิภาคได้

การศึกษาครั้งสำคัญว่าด้วยภาระอันเนื่องมาจากโรคมะเร็ง

ด้วยการเล็งเห็นผลกระทบของโรคมะเร็งที่มีต่อระบบสาธารณสุขของภูมิภาคอาเซียน มูลนิธิอาเซียนจึงได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มความตระหนักในภาระอันเกิดจากโรคมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งเร่งให้มีการดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาโรคร้ายดังกล่าว ในการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งประจำภูมิภาคอาเซียนได้มีการจัดการศึกษาครั้งสำคัญในหัวข้อ “ภาระที่เกิดจากโรคมะเร็ง และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียน” การศึกษาในครั้งนี้เป็นโครงการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลด้านระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในภูมิภาค ซึ่งไม่เคยมีข้อมูลดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ จะพยายามเจาะศึกษาข้อมูลในด้านภาระเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากโรคมะเร็งที่มีต่อผู้ป่วย และครอบครัวของผู้ป่วยในทั้ง 10 ชาติอาเซียน

“เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคมะเร็ง เราไม่เพียงต้องอาศัยการตอบสนองในทิศทางเดียวกันจากรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังต้องใช้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาลในการร่วมกันออกแบบและนำแผนการควบคุมโรคมะเร็งที่ครอบคลุมมาใช้อย่างจริงจัง” ดร. มาการิม วิบิโซโน่ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าว

“เราหวังว่าการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภูมิภาคอาเซียนจากหลากหลายระดับสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบด้วยข้อมูลที่มีมากขึ้นในด้านนโยบายการควบคุมโรคมะเร็ง รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากร ในการประชุมวันนี้เราหวังว่าจะเป็นการเสริมความสามารถให้กับประเทศสมาชิกในการวางแผน และพัฒนาแผนการควบคุมโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ จากการที่ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้มีโอกาสในการรับฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคที่มากด้วยประสบการณ์อันกว้างขวางในการนำแผนการควบคุมโรคมะเร็งมาปฏิบัติใช้และประเมินผล” ดร. วิบิโซโน่ กล่าวเสริม

มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม สองเพชฌฆาตร้ายในอาเซียน

พร้อมกันนี้ ในการประชุมยังได้มีการนำเสนอผลการศึกษาส่วนแรกที่ใช้ระยะเวลาศึกษารวมทั้งสิ้นสองปีให้กับบรรดาผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมในด้านอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน ในการนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ ศาสตราจารย์ มาร์ค วูดวาร์ด จากสถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพนานาชาติ (The George Institute for International Health) จากนครซิดนีย์ กล่าวว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวนถึง 7 แสนรายในประเทศอาเซียนในปี 2551 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนกว่า 5 แสนรายในปีเดียวกัน

“โรคมะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยโรคมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนในบรรดาผู้หญิง สามอันดับแรกของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นมาจากโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ดี ยังมีความแปรผันตามเขตภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตัวอย่างเช่น อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมในประเทศอินโดนีเซียพบว่ามีสูงกว่าในประเทศลาวและเวียดนามโดยประมาณถึง 3 เท่า ขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศเวียดนามพบว่าสูงกว่าในประเทศลาว ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยถึง 4-5 เท่า จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจเหตุผลต่างๆ ที่อธิบายความแปรผันเหล่านี้” ดร. วูดวาร์ด กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านโรคมะเร็งประจำภูมิภาคอาเซียนต่างเห็นด้วยกับการเรียกร้องให้มีการดำเนินการของดร. วูดวาร์ด โดยได้ให้คำมั่นในการผสานความร่วมมืออย่างแน่น แฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

“การประสานงานร่วมกันเท่านั้นคือวิธีการที่จะทำให้เราตระหนักว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาท้าทายด้านสุขภาพสำหรับอนาคตอันใกล้นี้ และจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา สุขภาพ และความเท่าเทียมกันในภูมิภาคอาเซียน” ดร. วิบิโซโน่ กล่าวในช่วงสุดท้ายของการประชุม

เกี่ยวกับการศึกษาโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียน

การศึกษาด้านโรคมะเร็งครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน (The ASEAN Cancer Landmark Study) เป็นโครงการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลด้านระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในภูมิภาคซึ่งไม่เคยมีข้อมูลดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ จะพยายามเจาะลึกข้อมูลในด้านภาระเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากโรคมะเร็งที่มีต่อผู้ป่วย และครอบครัวของผู้ป่วยในทั้ง 10 ชาติในภูมิภาคอาเซียน การศึกษาในครั้งนี้มีระยะเวลาตามแผนการศึกษาที่ 2 ปี หรือมากกว่า โดยจะครอบคลุมไปถึงผู้ป่วยมากกว่า 10,000 รายใน 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด โดยมุ่งหวังที่จะเสริมความสามารถให้กับประเทศสมาชิกในการวางแผน และพัฒนาแผนการควบคุมโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ รวมทั้งสร้างแบบจำลองเพื่อเป็นแนวทางในด้านสาธารณสุข และการจัดลำดับความสำคัญ การศึกษาด้านโรคมะเร็งครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการโดยสถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพนานาชาติ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากเงินทุนแบบไม่จำกัดจากบริษัท โรช (เอเชีย แปซิฟิก)

เกี่ยวกับมูลนิธิอาเซียน

มูลนิธิอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยผู้นำอาเซียนในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2540 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม วัตถุประสงค์สองระดับของการก่อตั้งมูลนิธิอาเซียนนั้นได้บ่งบอกไว้ในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนไว้ดังนี้

ส่งเสริมความตระหนักในความเป็นอาเซียนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในภูมิภาคอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียนในระดับที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะช่วยให้ประชาชนในภูมิภาคตระหนักถึงศักยภาพ และความสามารถเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การอาเซียนในฐานะที่เป็นกลุ่มประเทศที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบของสังคมทุ่มเทความพยามเพื่อสนับสนุนด้านกลยุทธ์ความร่วมมือในการพัฒนา ที่ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน และการบรรเทาปัญหาความยากจน

เกี่ยวกับสถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพนานาชาติ

สถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพนานาชาติ (The George Institute for International Health) เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากนานาประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยต่างๆ ในด้านสาธารณสุขที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง ทางสถาบันฯ เป็นพันธมิตรร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ (University of Sydney) และยังเป็นผู้นำในด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิก นโยบายด้านสุขภาพ รวมทั้งด้านการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร สถาบันฯ มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในสาขาวิจัยต่างๆ อยู่ทั่วโลก รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบการวิจัย การบริหารจัดการโครงการ และการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติ จากการที่ได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้กำหนดนโยบายระดับโลก สถาบันฯ จึงได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ องค์กรการกุศล และองค์กรเอกชนต่างๆ ผลงานศึกษาของสถาบันจอร์จยังได้รับการตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอในวารสารวิชาการชั้นนำระดับโลก

เกี่ยวกับ โรช

โรช เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นด้านการค้นคว้าวิจัยยาและการวินิจฉัยโรค มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองบาเซล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในฐานะบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โรชมีเวชภัณฑ์อันโดดเด่นในด้านการรักษาโรคมะเร็ง ไวรัสวิทยา การอักเสบ ความผิดปกติของระบบเมตะบอลิซึ่ม และโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ โรชยังเป็นผู้นำของโลกในด้านการวินิจฉัยในหลอดทดลอง (in-vitro diagnostics) และการวินิจฉัยโรคมะเร็งจากเนื้อเยื่อ รวมทั้งเป็นผู้นำในด้านการจัดการโรคเบาหวาน กลยุทธ์ด้านการรักษาเฉพาะบุคคลของโรชมีเป้าหมายเพื่อใช้เวชภัณฑ์ และเครื่องมือในการวินิฉัยเพื่อช่วยให้เกิดผลที่ดีต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และการอยู่รอดของผู้ป่วย ในปี 2553 โรชมีบุคลากรกว่า 80,000 คนทั่วโลก และได้ใช้งบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 9 พันล้านฟรังก์สวิส กลุ่มบริษัทโรช สร้างยอดขายมูลค่า 47.5 พันล้านฟรังก์สวิส นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าซื้อกิจการของจีเนนเทค รวมทั้งเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทชูไก ประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท สามารถค้นได้จากเว็บไซต์ www.roche.com.

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:ศรน์โศภิน พุทธชาติเสวี

ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน (ประเทศไทย) จำกัด

โทร: 0-2627-3501 ต่อ 101

อีเมล: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย