ทช. จัดกิจกรรม “ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลอันดามัน”เปิดคลังสมอง ให้สื่อติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด

พุธ ๑๓ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๒๙
กิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ “ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลอันดามัน” เท่ากับเป็นการเปิดคลังสมอง ให้สื่อมวลชนได้ติดตามศึกษาการทำงานของทช. ในพื้นที่แถบฝั่งทะเลอันดามันของไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนภาพจริงจากการทำงาน ให้สาธารณชนได้รู้ว่าได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการทำงานของ ทช.

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวระหว่างการร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ “ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลอันดามัน” ณ.บริเวณชายหาดแหลมพันวา สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชนได้ติดตามศึกษาการทำงานของ ทช. ในพื้นที่แถบฝั่งทะเลอันดามันของไทยอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่พิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเลที่ถือเป็นแหล่งวิจัยรวบรวมตัวอย่าง ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ฯและความรู้ด้านอนุกรมวิธานของสัตว์ทะเลและพืชทะเล เป็นทั้งสถานที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาในงานวิจัยด้านอนุกรมวิทยาความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อนักวิทยาศาสตร์ นิสิต นักศึกษาของประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งผู้ที่สนใจด้านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

รวมถึงการท่องทะเลอันดามันโดยเรือจักรทอง ทองใหญ่ เพื่อติดตามดูการปฏิบัติภารกิจของ ทช.ในท้องทะเล อาทิ การสำรวจถุงแพลงตอนทางทะเล เก็บตัวอย่างน้ำ เก็บตัวอย่างดินในทะเล เพื่อนำมาศึกษาวิจัยหาความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของท้องทะเลฝั่งอันดามัน การชมวิธีการและขั้นตอนใน การผ่าพิสูจน์ซากสัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้นตาย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยา โครงสร้างประชากร ลักษณะทางพันธุกรรม และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งการอนุบาล การเพาะพันธุ์ และฟื้นฟูเต่าทะเล จากกรณีที่เจ็บป่วยจากธรรมชาติ หรือจากการติดเครื่องมือประมง ซึ่งฐานข้อมูลที่ได้ทั้งหมด ทช. จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากต่อไป

ส่วนความคืบหน้าในการฟื้นตัวของปะการังในแถบฝั่งทะเลอันดามัน จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงต้นปี 2554 นั้น อธิบดี ทช.กล่าวว่าขณะนี้ปะการังได้หยุดการฟอกขาวแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่ทาง ทช.กำลังทำการสำรวจแนวโน้มการฟื้นตัวของปะการัง จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่า บริเวณเกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะต่างๆ ในจังหวัดตรัง แนวปะการังอยู่ในสภาพกำลังฟื้นตัว เนื่องจากพบตัวอ่อนปะการังเป็นจำนวนมาก และยังพบอีกว่าฝั่งตะวันตก เหมาะสมกับการฟื้นตัวของปะการังหลายชนิด นอกจากการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังแล้ว ในหลายพื้นที่ยังพบว่ามีการงอกใหม่ของชิ้นส่วนของปะการังที่ยังมีชีวิต โดยเฉพาะบริเวณเกาะที่ห่างฝั่งมีคุณภาพน้ำทะเลดีและมีปะการังชนิดเดียวกันขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจที่ได้ ทช. ได้นำมากำหนดเป็นมาตรการ เพื่อควบคุมกิจกรรมที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของแนวปะการัง เช่น การท่องเที่ยว การประมง และการประกอบธุรกิจตามชายฝั่งฯลฯ

อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่กระจายของแมงกะพรุนพิษในแถบฝั่งอันดามันของไทย โดยการสำรวจของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล พบแมงกะพรุนไฟ 1 ชนิด แมงกะพรุนกล่อง 5 ชนิด ในฝั่งอันดามัน และพบแมงกะพรุนกล่อง 4 ชนิดในฝั่งอ่าวไทย เป็นแมงกะพรุนกล่อง สกุล Chironex fleckeri สกุลเดียวกับที่พบในออสเตรเลีย พิษของมันอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 40 นาที และจากการตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตที่น่าสงสัยว่าเกิดจากแมงกะพรุนกล่องในช่วงปี 2542-2551จำนวน 4 ราย และยังพบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าสงสัยจะมีการสัมผัสแมงกะพรุนพิษใน จ.สุราษฏร์ธานี กระบี่ ภูเก็ตและสตูลจำนวน 381 คน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 — 19 มิถุนายน 2554 มีรายงานว่าพบแมงกะพรุนไฟกลุ่ม Hydrozoa วงศ์ Physalidae ชนิด Physalia sp. (ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Portuguese Man O’War หรือ Blue Bottle) ในพื้นที่หาดในหานและหาดในทอน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งความเป็นพิษหรืออันตรายของแมงกะพรุนชนิดนี้ หากมีการสัมผัสจะทำให้เกิดการบาดเจ็บในหลายระดับขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ ตั้งแต่อาการแสบคันจนถึงปวดแสบปวดร้อน รวมถึงมีอาการไข้ ช็อค และเกิดความผิดปกติกับหัวใจและปอด ในกรณีที่ความเป็นพิษรุนแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่จากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีน้อยมาก ซึ่งทาง ทช.จะทำการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใกล้ชิด เพื่อให้ทราบชนิดและการแพร่กระจายที่แน่ชัด และจะทำหน้าที่เป็นหน่วยเฝ้าสังเกตการณ์ เก็บรวบรวมข้อมูล และศึกษาเกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษ และติดตามสถานการณ์การเคลื่อนย้ายของฝูงแมงกะพรุน ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การแพร่กระจาย ฤดูกาลของแมงกะพรุนพิษ บริเวณชายหาดท่องเที่ยวและแหล่งทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และได้มีการออกมาตรการโดยการติดตั้งป้ายเตือน

สร้างเครือข่ายความร่วมมือ จากประชาชน ชาวประมง ชาวบ้าน และอาสาสมัครในพื้นที่ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้กับคนในพื้นที่ และเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังการได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากแมงกะพรุนพิษ เพื่อไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการลดอัตราการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษในอนาคต

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เท่ากับเป็นการเปิดคลังสมองของทช. เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสและศึกษาการทำงาน ของ ทช. แถบฝั่งอันดามันของไทยอย่างใกล้ชิด ช่วยให้เห็นถึงขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน ด้านการสงวนรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยมุ่งหวังให้สื่อมวลชนได้สะท้อนภาพจริงจากการทำงาน เพื่อให้สาธารณชนได้รู้ว่าได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการทำงานของ ทช.”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ